คำอธิบายการตรวจสุขภาพประจำปีรายการต่างๆ

ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพ

ในสภาพการณ์ปัจจุบันประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชุมชนเมืองต้องผจญกับปัญหา และปัจจัยเสี่ยงต่างๆจากการประกอบอาชีพที่ต้องแข่งขันกับเวลา ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว และมลพิษจากสิ่งแวดล้อมต่างๆเป็นต้นทำให้เกิดความตึงเครียดทั้งร่างกายและจิตใจก่อให้เกิดการบั่นทอนสุขภาพของตนเองโดยไม่ทันรู้ตัว การเอาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างเสม่ำเสมอด้วยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการทำจิตใจให้ผ่องใสเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงปฏิบัติได้ยากและมักจะละเลยกัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี…จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญมากเพราะสามารถตรวจพบความผิดปกติเบื้องต้นได้ และทำการรักษา หรือป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป อันจะเป็นปัญหาที่นำไปสู่การสูญเสียเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติ



ตรวจอะไร เพื่ออะไร
การตรวจสภาพร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจดูสภาพร่างกาย ตา หู คอ จมูก และช่องปาก วัดความดันโลหิต ตรวจการเต้นของหัวใจ

ความดันโลหิต(Blood pressure)
ความดันโลหิตสูงอาจไม่แสดงอาการปวดศรีษะ มึนศรีษะ แต่ความดัน-โลหิตสูงในระยะยาว ทำให้เกิดผลเสียต่อสมอง หัวใจ และไต การตรวจร่างกายจะทำให้พบและรักษาได้แทนที่จะรอให้เกิดปัญหา เช่น ไตวาย เส้นเลือดสมองแตก

ดัชนีน้ำหนัก( Body Mass Index: BMI )
คืออัตราส่วนที่เหมาะสมและสมดุลระหว่างน้ำหนักและส่วนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำหนักมากเกินไป อาจเป็นบ่อเกิดของความเจ็บป่วยในอนาคต

 


ตรวจนับเม็ดเลือด(Complete Blood Count : CBC)
เป็นการตรวจความเข้มข้นของเลือด เม็ดเลือด เกล็ดเลือด และลักษณะรูปร่างของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ความผิดปกติเล็กน้อยในตัวเราที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น เช่นอ่อนเพลีย โลหิตจาง เหนื่อยง่าย เวียนศรีษะ การบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธ์เป็นผลลัพธ์หรือสาเหตุของความผิดปกติในเม็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด ปริมาณและชนิดของเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ อาจนำไปสู่การพบโรคก่อนแสดงอาการ

ไขมันในเลือด(Cholesterol ,Triglyceride)
ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ และสมอง ตับอ่อนอักเสบ อาการของภาวะไขมันในเลือดสูงมักจะไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจนในระยะแรก การเฝ้าระวังโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ดูสมรรถภาพการทำงานของตับ(Aspartate Transaminase,Alanine Transaminase,Alkaline Phosphatase : AST,ALT,ALP)
เป็นการตรวจสอบเพื่อบอกถึงสมรรถภาพการทำงานของตับและสภาพเนื้อเยื่อของตับ เช่นโรค ตับแข็ง ตับอักเสบ และติดตามผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด ดูความผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดี

สมรรถภาพการทำงานของไต(Blood Urea Nitrogen, Creatinine : BUN,CT )
เป็นการตรวจประสิทธิภาพการทำงานของไต ตลอดจนความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อของไต

ตรวจอุจจาระ
ตรวจดู และวินิจฉัยพยาธิในลำไส้ และในอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอดและตับ โดยนำอุจจาระใส่ตลับมาจากบ้าน

ตรวจปัสสาวะ
เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของไตเป็นการตรวจเบื้องต้น เพื่อค้นหาความผิดปกติของไต ระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคอื่นๆ เช่น ภาวะเบาหวาน นิ่ว การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

 


ตรวจสารพิษ
ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือด (Lead)
สำหรับผู้ที่ต้องประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารพิษต่างๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท ทินเนอร์ เพื่อทราบอัตราเสี่ยงการเกิดโรคจากสารพิษเหล่านี้
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด(Fasting Blood Sugar : FBS )
เพื่อดูความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่ โรคเบาหวานอาจพบได้ก่อนแสดงอาการ หากท่านน้ำหนักมากหรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวานการตรวจน้ำตาลในเลือดจะมีประโยชน์มาก

ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด(Uric acid)
เพื่อค้นหาโรคเก๊าท์หรือไขข้ออักเสบ ซึ่งเกิดจากการมีกรดยูริคสะสมอยู่ตามเนื่อเยื่อข้อกระดูกทำให้ปวดตามข้อ นอกจากนั้นถ้าระดับกรดยูริคสูงกว่าปกติ อาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นสาเหตุของโรคไตตามมาได้

ตรวจระดับไขมันความหนาแน่นสูง(Hight-Density Lipoprptein : HDL)
เป็นไขมันคอเลสเตอรอลชนิด “ ดี” ซึ่งจะช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน
ไขมันชนิดนี้จะขึ้นสูง ถ้าออกกำลังกายเสม่ำเสมอ

ตรวจระดับไขมันความหนาแน่นต่ำ(Low-Density Lipoprptein : LDL)
เป็นไขมันคอเลสเตอรอลชนิด “ ไม่ดี” หรือไขมันตัวร้ายซึ่งจะค่อยๆสะสมเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ค่า LDL ที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี(Hepatitis B Virus)
HBs Ag ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี
HBs Ab ตรวจดูภูมิป้องกันต่อเชื้อไวรัส บี
HBc Ab ตรวจดูภาวะเคยได้รับเชื้อไวรัสบี
โรคตับอักเสบ ชนิดบี อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารอาจมีไข้ต่ำๆในวันแรกๆ จุกแน่นท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม(หรือเรียกว่าอาการดีซ่าน) ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วย การตรวจช่วยให้ทราบว่า มีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายหรือไม่ หรือถ้ายังไม่พบการติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทานจะได้รับวัคซีนป้องกัน

ตรวจหน้าที่ต่อมธัยรอยด์(T3 T4 TSH)
ตรวจการทำงานของต่อมธัยรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ใช้ในการควบคุมขบวนการเผาผลาญของร่างกาย

เอ็กซเรย์ทรวงอกหรือการฉายภาพรังสีทรวงอก(Chest X-ray)
เพื่อดูขนาดของหัวใจและโรคของปอดเช่นวัณโรคปอด มะเร็งปอด การอักเสบในปอด เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ น้ำที่ขังอยู่ในเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ ตลอดจนความผิดปกติของกระดูกคอ กระดูกไหปลาร้า กระดูกหน้าอก โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารพิษ ติดเชื้อ อาจทำให้ปอดผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของวัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง ขณะตรวจให้หายใจเข้าลึกๆและกลั้นไว้สักครู่จนกว่าจะฉายภาพเสร็จ เพื่อให้ปอดขยายมากที่สุด ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน

ตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า(Electrocardiography: ECGหรือEKG)
เป็นกราฟที่ได้จากการบันทึกความต่างศักย์ไฟฟ้าของหัวใจโดยการวาง Electrodes ที่ตำแหน่งต่างๆบนร่างกายคือ หน้าอก แขนและ ขา ผลการตรวจที่ได้จะแสดงออกมาในรูปกราฟ ผู้รับการตรวจอาจอยู่ในท่านั่ง นอนตะแคง หรือนอนหงาย ผิวหนังบริเวณที่จะวาง Electrodes จะต้องทาครีม เพื่อช่วยในการนำไฟฟ้า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้ไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดๆ

ตรวจมะเร็งปากมดลูก(Pap smear)
แพทย์จะใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างเมือกบริเวณปากมดลูกไปตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็ง ผู้หญิงที่แต่งงานและสตรีอายุเกิน 35 ปีควรรับการตรวจปีละ 1 ครั้ง

ตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง(Ultrasound Abdomen)
ตรวจโดยใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียง ผู้รับการตรวจจะอยู่ในท่านอนหงาย วิธีการตรวจคือ ทาครีมลงบนผิวหนังบริเวณหน้าท้อง แพทย์ผู้ตรวจจะนำอุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกประคบมาถูเบาๆบนหน้าท้อง ผลการตรวจจะแสดงเป็นภาพของอวัยวะภายในช่องท้องบนจอภาพ

ตรวจความหนาแน่นของกระดูก(Bone Densitometry)
เป็นการเอ็กซเรย์จากเครื่องปล่อยผ่านกระดูก เพื่อวัดความหนาแน่นของกระดูกมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของแต่ละวัย มักตรวจที่กระดูกสันหลังส่วนเอวและข้อสะโพก

Visitors: 224,825