ทำอย่างไรเมื่อเจาะเลือดแล้ว รุ่งขึ้นมีรอยเขียวช้ำ

ทำอย่างไรเมื่อเจาะเลือดแล้ว รุ่งขึ้นมีรอยเขียวช้ำ
ในการเจาะเลือดไม่ว่าจะเป็นเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหรือการตรวจสุขภาพประจำปีล้วนแล้วแต่มีโอกาสจะเกิดรอยจ้ำ เป็นรอยเขียวๆ ได้ทั้งสิ้น บางคนเป็นมากถึงกับสีม่วงคล้ำ นานวันรอยเขียวๆ ก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งลามมาถึงท้องแขนน่าตกใจก็มี ไม่ต้องตกใจครับ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการการดำเนินการซ่อมแซมของร่างกายซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากที่มีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งเราเห็นเป็นรอยเขียวๆ นั่นเอง

สาเหตุ
สมัยเด็กๆ หรือทุกๆ คน คงเคยมีประสบการณ์อยู่แล้วคือหกล้ม หรือแขนขาพลาดไปชนกับอะไรก็ตาม ต่อมาก็จะเป็นเป็นรอยช้ำเขียว บางคนเป็นมากก็ถึงกับเป็นรอยม่วง รอยเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นเลือดที่ออกใต้ผิวหนังนั่นเอง สาเหตุที่เลือดออกก็คือมีเส้นเลือดได้รับบาดเจ็บ, ฉีกขาด หรือที่เรียกกันว่าเส้นเลือดแตก
ปกติการเจาะเลือด ร่างกายจะมองว่าเกิดการบาดเจ็บของเส้นเลือดขึ้น ซึ่งโดยกลไกของร่างกายเส้นเลือดจะมีการหดตัวเพื่อช่วยหยุดมิให้เลือดไหล ซึ่งกลไกการแข็งตัวของเลือดของร่างกายจะใช้ระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นพยาบาลจึงมักแนะนำให้เราพับแขนไว้หลังเจาะเลือด 5-10 นาที แต่ถ้าเราเผลอไปคลึงบริเวณที่เจาะเลือด หรือลืมตัวไปทำกิจกรรมอื่นที่มีการเคลื่อนไหวโดยไม่ได้พับแขนหรือหยุดการเคลื่อนไหวได้นานพอที่กลไกการแข็งตัวของเลือดจะทำงานได้ทัน เลือดก็จะรั่วออกมานอกเส้นเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนังกลายเป็นรอยจ้ำ ช้ำเขียวนั่นเอง, นอกจากนี้อาจเกิดได้ในคนที่เส้นเลือดเปราะบาง, เส้นเลือดเล็ก ซึ่งมักพบในสุภาพสตรี เพราะโดยฮอร์โมนเพศทำให้เส้นเลือดแข็งแรงน้อยกว่าผู้ชาย และหากไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอีกจะทำให้เส้นเลือดเล็กไม่ค่อยขยายตัว ก็จะทำให้เจาะเลือดยากขึ้น มีโอกาสเส้นเลือดแตกมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
สาเหตุอีกประการหนึ่งแต่พบไม่บ่อยคือคนที่มีกลไกการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือเป็นโรคเลือดบางชนิด เช่น เกร็ดเลือดต่ำ หรือเป็นโรคตับเรื้อรังหรือโรคไตเรื้อรังซึ่งมีผลทำให้เลือดแข็งตัวได้ไม่ดี และประการสุดท้ายก็เกิดจากเทคนิคการเจาะเลือด ถ้าทำได้ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เส้นเลือดแตกได้

การดำเนินโรคและอาการ
ดังกล่าวแล้วว่ารอยช้ำเขียวที่ภายหลังจากการเจาะเลือดคือเลือดที่คั่งอยู่ใต้ผิวหนัง ใต้ผิวหนังของเรานี้จริงๆ แล้วเป็นเนื้อเยื่อหลวมๆ มีช่องให้เม็ดเลือดไหลไปมาได้ ดังนั้นในบางคนที่ปริมาณเลือดที่ออกมากพอสมควร เลือดก็จะไหลตกลงสู่ท้องแขนตามแรงโน้มถ่วงทำให้ดูเหมือนว่าเลือดออกมากขึ้น ต่อมาเม็ดเลือดก็จะแตกตัวทำให้กลายเป็นสีคล้ำขึ้น ซึ่งร่างกายจะมีการกำจัดเม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วนี้โดยให้เม็ดเลือดขาวมาจับกินเสีย เราก็จะเห็นว่าวงรอยช้ำค่อยๆ กว้างขึ้น ในขณะที่ตรงกลางจะเริ่มจางลง และค่อยๆ จางหายไปในที่สุด การที่รอยช้ำขยายกว้างขึ้นทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าเลือดออกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นกระบวนการรักษาตนเองของร่างกาย
สำหรับอาการ เมื่อเม็ดเลือดออกมานอกเส้นเลือด จะแตกตัว การแตกตัวจะปล่อยสารหลายชนิดออกมา ซึ่งสารเหล่านี้กระตุ้นในเกิดการอักเสบ, เจ็บปวดได้ ดังนั้นเมื่อคลำที่บริเวณรอยช้ำจะรู้สึกปวด หรืออาจรู้สึกปวดตุ้บๆ หรือชาแปล็บๆ ที่รอยช้ำได้

การดูแลรักษา
ดีที่สุดคือปล่อยให้หายเอง รอยช้ำจะค่อยๆ จางหายไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ในคนที่เป็นมากอาจใช้เวลาถึง 2-4 สัปดาห์ก็มี ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเจาะเลือดหากมีรอยช้ำเขียวหรือบวมแนะนำให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือความเย็น หลังจากนั้นเมื่อยุบบวมแล้วให้เปลี่ยนเป็นน้ำร้อน ความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว นำเม็ดเลือดขาวมาได้มากขึ้น รอยช้ำจะจางหายไปเร็วขึ้น
สำหรับอาการปวดตุ้บๆ หรือเจ็บที่รอยช้ำ อาจรับประทานยาแก้ปวดประจำบ้าน เช่น Paracetamol (500 mg) 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดได้ หรือรับประทานแอสไพรินครั้งละ 1 เม็ดเวลาปวดก็ได้ สำหรับยาทาอาจใช้ Hirudroid cream หรือ Reparil gel ทาบางๆ บริเวณรอยช้ำก็จะช่วยได้ (ห้ามนวด)

ทำอย่างไร เจาะเลือดจึงจะไม่มีรอยช้ำ
ดังที่กล่าวตอนต้นแล้วว่า เส้นเลือดที่ชัด ตื้น และมีขนาดใหญ่จะเจาะเลือดได้ง่าย และมีโอกาสเกิดเส้นเลือดแตกได้น้อยกว่าเส้นเลือดที่เล็ก มองเห็นไม่ค่อยชัด และเปราะบาง ซึ่งการจะทำให้เส้นเลือดขยายตัวและแข็งแรงมีเพียงวิธีเดียวคือการออกกำลังกาย นอกจากนี้ผู้ที่กลัวเลือดหรือกลัวการเจาะเลือดไม่ควรไปรีรอบริเวณเจาะเลือดนานๆ เพราะความกลัวจะกระตุ้นระบบประสาทอัติโนมัตืซึ่งอยู่นอกการควบคุมของจิตใจทำให้เส้นเลือดหดตัวก็จะทำให้เจาะเลือดยากยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อเจาะเลือดแล้วควรพับแขนไว้นิ่งๆ ประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยไปทำกิจกรรมอื่น ไม่ควรคลึงหรือนวดบริเวณที่เจาะเลือด สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติช้ำเขียวง่าย หรือเจาะเลือดและเกิดรอยช้ำเสมอ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเลือดหรือโรคที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ไม่ดี เมื่อเจาะเลือดแล้วให้พับแขนไว้นิ่งๆ 10 นาที หรือนานกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดหยุดแล้วจึงเคลื่อนไหว โอกาสเกิดรอยช้ำก็จะน้อยลง

Visitors: 224,524