แพทย์กับการตรวจสุขภาพลูกจ้างในสถานประกอบการ

แพทย์กับการตรวจสุขภาพลูกจ้างในสถานประกอบการ
เนื่องด้วยกระทรวงสารธารณสุขได้กำหนด “กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547” ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพและโรงพยาบาล หรือหน่วยงานเอกชนซึ่งให้บริการตรวจสุขภาพลูกจ้างโดยเฉพาะพนักงานสถานประกอบการ
การตรวจสุขภาพเป็นระยะ (Periodic health examination) ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการทำงาน จึงกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพรับการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจสุขภาพเป็นระยะซึ่งมักจะเป็นปีละครั้ง ตรวจเมื่อย้ายงาน ตรวจเพื่อกลับเข้าทำงานหลังจากเจ็บป่วยและการตรวจสุขภาพเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน
สำหรับในประเทศไทย รัฐใช้กลไกลทางกฎหมายบังคับให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพให้กับลูกจ้าง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและให้นายจ้ายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจดังกล่าวนี้ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและการรักษาพยาบาลอันอาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการตรวจสุขภาพ โดยเริ่มจากมาตรา 107 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ระบุว่า “ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจดังกล่าวแก่พนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดกฎกระทรวง” ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับฎีกาเล่ม 122 ตอนที่ 4 ก วันที่ 13 มกราคม 2548 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2548 เป็นต้นไป
“กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 ประกอบด้วย 11 ข้อ 2 หมวด โดยข้อ 2 เป็นการกำหนดนิยาม ข้อ 3 และ 4 (หมวด 1) เป็นการระบุผู้ทำการตรวจและช่วงเวลาที่ต้องตรวจสุขภาพ สำหรับข้อ 5 ถึง 11 (หมวด 2) เป็นการกำหนดให้มีการบันทึกผล การแจ้งและการส่งผลการตรวจสุขภาพ
ข้อ 2 “การตรวจสุขภาพ” คือ “การตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตใจตามวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันเกิดจากการทำงาน” อันแสดงให้เห็นว่า การตรวจสุขภาพในที่นี้เน้นการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินโอกาสเจ็บป่วยจากการทำงานของลูกจ้างไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยเพื่อประเมินโอกาสเจ็บป่วยจากการทำงานของลูกจ้าง
ข้อ 2 นี้ยังได้ให้นิยาม “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” ที่ลูกจ้างผู้ทำงานควรได้รับการตรวจสุขภาพ ว่าคือ “งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จุลซีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือ สารชีวภาพอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด กัมมันตภาพรังสี, ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตราย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะครอบคลุมสิ่งคุกคามสุขภาพทุกชนิด ที่อาจมีผลต่อสุขภาพของลูกจ้าง ไม่ว่าที่ปรากฏในขณะนี้หรือที่จะกำหนดเพิ่มในอนาคต
สำหรับผู้ทำการตรวจนั้น ได้กำหนดในไว้ข้อ 3 “ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์หรือที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด”
สำหรับช่วงเวลาที่ควรตรวจสุขภาพนั้นระบุ “ตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานและตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง” และกฎกระทรวงได้เปิดชองให้สามารถตรวจเป็นระยะได้ตามเวลาที่มากกว่าหรือน้อยกว่า 1 ปี โดยระบุว่า “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงนั้น มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระยะเวลาอื่น ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างตามระยะเวลานั้น”
นอกจากนั้นยังได้กำหนดเพิ่มอีก 2 กรณี คือ “ในกรณีนายจ้างเปลี่ยนงานของลูกจ้างที่มีลักษณะอันตรายแตกต่างไปจากเดิม ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างทุกครั้งให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เปลี่ยนงาน” และ “ในกรณีที่ลูกจ้างหยุดงานสามวันติดต่อกัน เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ไม่ว่ากรณีใด ๆ นายจ้างอาจขอความเห็นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือแพทย์ประจำสถานประกอบกิจการ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีกก็ได้”
หมวด 2 ของกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการบันทึกผล การแจ้งและการส่งผลการตรวจสุขภาพ “แพทย์ผู้ทำการตรวจต้องบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับผลการตรวจสุขภาพ โดยให้ระบุความเห็นของแพทย์ที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายของลูกจ้าง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อแพทย์ผู้ตรวจหรือให้ความเห็นในวันที่ตรวจ”
ทั้งนี้แพทย์ต้องลงรายละเอียดเหล่านี้ในสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างจัดให้มี โดย “นายจ้างต้องเก็บบันทึกเหล่านี้ไว้ ณ ที่ทำการของนายจ้างตลอดระยะเวลาการจ้างงานและเพิ่มอีก 2 ปีหลังจากเลิกจ้าง หรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ห้ามนายจ้างนำข้อมูลไปใช้ในทางที่เป็นโทษแก่ลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุอันควร” และสมุดบันทึกนี้ต้องมอบให้ลูกจ้างเมื่อสิ้นสุดการจ้างด้วย
สำหรับการแจ้งผลนั้น นายจ้างต้องแจ้งผลการตรวจให้ลูกจ้างทราบภายใน 3 วัน สำหรับผลตรวจที่ผิดปกติและ 7 วัน สำหรับผลตรวจที่ผิดปกติ และ “ในกรณีที่พบความผิดปกติของลูกจ้างหรือลูกจ้างมีอาการเจ็บเนื่องจากการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีและทำการตรวจสอบหรือหาสาเหตุของความผิดปกติเพื่อผลประโยชน์ของการป้องกัน”

ตามกฎกระทรวงนี้ แพทย์จึงมีหน้าที่ตรวจและบันทึกผลการตรวจสุขภาพโดยมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในระหว่างแพทย์ด้วยกันคือ โดยทั่วไปแล้วแพทย์อาจให้บริการด้านการตรวจสุขภาพได้ 3 ลักษณะ คือ เป็นผู้จัดรายการตรวจสุขภาพ เป็นผู้ตรวจสุขภาพหรือเป็นผู้แปลผลการตรวจสุขภาพ กฎกระทรวงนี้ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าแพทย์ควรต้องทำทั้ง 3 ขั้นตอน อย่างไรก็ตามการจัดรายการตรวจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากงานเป็นหัวใจสำคัญของการตรวจสุขภาพลูกจ้าง และแพทย์ที่มีความรู้ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์จะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการจัดรายการนี้ การแปลผลการตรวจมีความสำคัญและควรให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ทำ เนื่องจากจะต้องพิจารณาความเกี่ยวเนื่องระหว่างสภาวะสุขภาพที่อาจมีผลต่อการทำงานของลูกจ้าง ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วหรือการทำงานที่อาจมีผลต่อสุขภาพ ในกรณีที่ลูกจ้างแข็งแรงดีขณะที่การตรวจสุขภาพเองนั้น สามารถกระทำได้โดยแพทย์ไม่ว่าสาขาใด หรือบางครั้งผู้ตรวจสุขภาพเป็นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่แพทย์แต่ทำการตรวจภายใต้การดูแลของแพทย์ เช่นการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน การตรวจสายตา การเจาะเลือดหรือเก็บสารหลั่ง
การกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ในกฎกระทรวงนี้ ทำให้นายจ้างจะต้องจัดหาแพทย์“เฉพาะทาง” ดังกล่าวมาทำการตรวจสุขภาพ ในขณะนี้มีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติแขนงอาชีวเวชศาสตร์ สาขาเวชศาสตร์ป้องกันจากแพทยสภาประมาณ 80 คน และมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรอาชีวเวชศาสตร์ประมาณ 400 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้ประมาณครึ่งหนึ่งของแพทย์กลุ่มนี้ ผ่านการอบรมหลักสูตร 2 เดือนที่กรมการแพทย์จัดอบรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งนั้นผ่านการอบรมหลักสูตร 2 สัปดาห์ที่กรมการแพทย์จัดอบรมเช่นกันตั้งตาปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจำนวนแพทย์ทั้งหมดนี้ไม่เพียงพอต่อจำนวนสถานประกอบการที่ต้องการตรวจสุขภาพทั่วประเทศ นอกจากนั้น competency ของแพทย์กลุ่มนี้ยังเป็นที่สงสัยของนายจ้าง โดยอ้างว่าแพทย์ไม่ทราบขั้นตอนการทำงานในสถานประกอบการทำให้ทำการตรวจสุขภาพอย่างไม่เหมาะสม
ในสภาวะที่ขาดแคลนทั้งจำนวนและคุณภาพของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เช่นนี้ ควรมีการจัดการ 3 ระดับ คือ
(1) ระดับปัจเจก แพทย์ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสุขภาพลูกจ้าง ณ ขณะนี้ ควรทบทวนว่าได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้หรือไม่ และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงต่อไป
(2) ระดับองค์กร สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่ให้บริการตรวจสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนควรทำการตกลงกับนายจ้าง ปรับการให้บริการตรวจสุขภาพให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงนี้
(3) ระดับหน่วยงาน แพทยสภาในฐานะตัวแทนวิชาชีพแพทย์ ควรได้มีการทำความตกลงในด้านคุณภาพการปฏิบัติงานของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์กับกรมการแพทย์ในฐานะผู้ผลิตและกับอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในฐานะผู้ซื้อ เพื่อให้มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสุขภาพตามแนวทางที่กฎกระทรวงกำหนด ทั้งนี้จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างในฐานะผู้ซื้อได้ทราบด้วย
(4) ระดับกระทรวง ควรมีการตกลงระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข ในการกำกับดูแลการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานกลางระดับชาติ เพื่อจัดตั้งฐานข้อมูลรวบรวม วิเคราะห์และจัดการข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างทั่วประเทศ
หากมีการปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ เชื่อว่าการตรวจสุขภาพพนักงานนับแต่ปี 2548เป็นต้นไป จะอำนวยประโยชน์ให้เกิดระบบเตือนภัยทางสุขภาพสำหรับลูกจ้างตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ที่มา สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข

Visitors: 224,800