การวางแผนการตรวจสุขภาพ

การวางแผนการตรวจสุขภาพประจำปี
และการตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์
Annual Health Examination and Periodic Occupational Health Surveillance

เรือเอกนายแพทย์ เอกลักษณ์ ธรรมสุนทร
ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางการแพทย์
เมดิโปรการแพทย์และสุขภาพ

แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม)
วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาศัลยศาสตร์
อนุมัติบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
ประกาศนียบัตรแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

การกำหนดโปรแกรมหรือวางแผนการตรวจสุขภาพประจำปี่สำหรับองค์กรหนึ่งๆนั้น ค่อนข้างมีความหลากหลายเนื่องจากขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น งบประมาณการตรวจสุขภาพขององค์กรนั้นๆ, นโยบายในการดูแลสุขภาพของพนักงาน ฯลฯ ซึ่งอาจสรุปออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆคือ
1. การตรวจสุขภาพประจำปี (Annual Health Examination)
2. การตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์ (Periodic Occupational Health Surveillance)
ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันคือการตรวจสุขภาพประจำปีจะเป็นการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล เช่นการตรวจดูระดับไขมันคอเลสเตอรล (Cholesterol) ในเลือด ซึ่งประเมินความเสี่ยงในเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ, อัมพฤกษ์-อัมพาตในอนาคต เป็นต้น สำหรับการตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพเช่นเดียวกัน แต่เน้นในส่วนของโรคภัยและ/หรือความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งในแต่ละตำแหน่งงานย่อมมีความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามทั้งการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์ ต่างก็เป็นกระบวนการตรวจคัดกรอง (Screening) เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏอาการ (Early Detection) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สวนทางกับการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาโรค กล่าวคือการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาโรคจะทำในผู้ป่วย คือมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ จึงมาพบแพทย์ และเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบความผิดปกติอะไรที่น่าสงสัย ก็จะส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการไข้ต่ำๆ, ไอเรื้อรัง, น้ำหนักลด เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีเสียงลมหายใจผิดปกติจึงส่งตรวจเอกซเรย์ปอด และพบว่ามีการอักเสบของปอดกลีบบน จึงวินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรคปอด เป็นต้น แต่สำหรับการตรวจสุขภาพและการตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์ นั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ สามารถทำงาน, เล่นกีฬา ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนั้น การตรวจใดๆที่ไม่ได้ทำก็จะไม่สามารถตรวจหาหรือค้นพบความผิดปกติต่างๆได้ เช่น โปรแกรมการตรวจที่มีเพียงการตรวจร่างกายโดยแพทย์, ตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (CBC), และเอกซเรย์ปอดจะไม่สามารถค้นพบผู้ป่วยเบาหวานในระยะที่ไม่ปรากฎอาการได้ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการตรวจนั้น “ไม่หาไม่พบ” แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าการตรวจจะต้องทำแทบทุกอย่างที่ตรวจได้ แต่เราอาศัยหลักสถิติว่าคนกลุ่มใด อายุ-เพศ, หรือมีปัจจัยเสี่ยงอย่างไร มักป่วยเป็นโรคอะไร แล้วตรวจไปตามนั้น การตรวจสุขภาพจึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า
ดังนั้น จะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่า แนวทางที่วางแผนโปรแกรมการตรวจที่น่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุดคือการประเมินความเสี่ยงของบุคลากรในองค์กร โดยมีหลักการที่เหมือนกันของการตรวจทั้งสองส่วน ที่แตกต่างกันคือการตรวจสุขภาพประจำปีจะพิจารณาตามความเสี่ยงของกลุ่มอายุ ในขณะที่การตรวจเฝ้าระวังทางอาชีวเวชศาสตร์จะพิจารณาจากการประเมินความเสี่ยงจากการทำงาน ซึ่งบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ก็คือการประเมินความเสี่ยงของการทำงานของพนักงานในสถานประกอบการหนึ่งๆ ซึ่งการจะได้ข้อมูลในการทำงานดังกล่าวจำต้องอาศัยการเดินสำรวจโรงงาน หรือ Walk Through Survey ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาบริหารจัดการในการดำเนินการทางอาชีวอนามัย โดยบริหารจัดการทั้งการลดความเสี่ยงจากการทำงาน ตลอดจนการเฝ้าระวังทางสุขภาพแก่คนงานต่อไป
กล่าวโดยสรุป การวางแผนการตรวจสุขภาพประจำปี นั้นจะต้องพิจารณา 2 ส่วนควบคู่กันไปเสมอ คือในส่วนของสุขภาพและส่วนของการทำงาน จึงจะครอบคลุมและเกิดประโยชน์-คุ้มค่าในการตรวจสุขภาพมากที่สุด

Visitors: 224,512