ตับอักเสบจากไวรัส

ตับอักเสบจากไวรัส หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงที่ตับ โดยที่เซลล์ตับจะอักเสบกระจายไปทั่วทั้งตับ

            โรคตับอักเสบจากไวรัสไม่ใช่โรคที่เพิ่งค้นพบ มนุษย์ต้องทนทุกข์กับโรคนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ นับเป็นเวลากว่า 2,000 ปีมาแล้วที่ฮิปโปเครตีสได้บรรยายถึงผู้ป่วยดีซ่าน โดยมีอาการไข้หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปัสสาวะเหลือง สมัยนั้นเรียก อินเฟคเชียสเฮปาไตติส (Infectious Hepatitis) ต่อมาพบว่ามีการระบาดของโรคนี้บ่อย ๆ เช่น ตอนที่มีภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว หรือพายุไต้ฝุ่น และโดยเฉพาะตอนสงคราม อาทิเช่น สงครามฟรังโก-ปรัสเซียนในยุโรป สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา และสงครามโลกทั้งสองครั้ง ซึ่งเกิดการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และประเทศอิตาลี แม้กระทั่งสงครามเกาหลี และสงครามเวียตนามก็มีการระบาดของโรคตับอักเสบจากไวรัสเช่นเดียวกัน

            เนื่องจากสมัยก่อนโรคนี้เป็นโรคระบาดค่อนข้างรุนแรง และน่ากลัว การระบาดแต่ละครั้งมีผู้คนล้มตายไปไม่น้อย จึงมีการศึกษาค้นคว้ากันมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทราบอะไรมากนัก จนกระทั่ง เมื่อ 30 ปีมานี้เอง ได้มีการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคตับอักเสบจากไวรัสมากมาย นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโรคนี้ ทำให้โรคนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อยมา และกำลังพัฒนาต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากที่มนุษย์ยังไม่สามารถค้นออกมาได้ มีการทดลองศึกษาหาวิธีตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ศึกษาหาวิธีป้องกันรักษาหรือขจัดโรคนี้ให้หมดไป มีรายงานตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ทั่วโลกจำนวนมหาศาล นับว่ามีการตื่นตัวมาก เหตุก็เนื่องจากมนุษย์เราต้องการอยากเอาชนะโรคนี้ให้ได้ แม้จะไม่ใช่โรคคอขาดบาดตาย แต่อยากปราบโรคนี้ให้อยู่หมัดเหมือนปราบโรคฝีดาษ ซึ่งเขาทำได้มาแล้ว จึงทำให้มนุษย์โรคสมัยนี้ไม่ต้องปลูกฝีป้องกันฝีดาษอีกต่อไป

            ตับอักเสบจากไวรัสจะมีหลายชนิด ได้แก่ A, B, C, D และ E ซึ่งแต่ละชนิดจะมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่ชนิด B จะรุนแรงกว่าชนิดอื่น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งเป็นถิ่นที่ไวรัสตับอักเสบบีระบาดมาก ประชากรไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนเป็นพาหะของโรคนี้ ไวรัสตับอักเสบบีนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง และมะเร็งตับ

 

            จากสถิติสาธารณสุข ปี พ.ศ. 25401 พบว่า มีการเสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบ 188 ราย (0.3 คนต่อประชากร 100,000 คน) และมีมะเร็งตับ 5,782 ราย (9.6 ต่อประชากร 100,000 คน) เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนับเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย โรคดังกล่าวนี้ทำให้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้เป็นจำนวนมาก พบว่า 15-25% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับ2 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติถึง 223 - 250 เท่า และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะเสียชีวิตเนื่องจากโรคตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดในการเกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับ3-9 ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย

 

อาการ

            ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีไข้ต่ำๆ ในวันแรกๆ จุกแน่นท้อง ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม (หรือเรียกว่าอาการดีซ่าน)

            ผู้ที่ติดเชื้อแล้วไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ส่วนใหญ่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ และมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ส่วนน้อยจะยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลายาว เรียกว่าเป็นพาหะ ผู้ที่เป็นพาหะอาจมีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากติดเชื้อเมื่อแรกเกิดหรือในวัยเด็ก อาจเขียนเป็นแผนภาพได้ดังนี้


การติดต่อ

            เชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีอยู่ในเลือดหรือส่วนที่เป็นน้ำของร่างกายของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ จึงติดต่อผ่านเลือด เพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมร่วมกัน หรือการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล เด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะในขณะคลอดหรือในระยะหลังคลอด

จากการศึกษาพบว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้แก่

  1. บุคคลที่เกิดในถิ่นระบาดสูง (High HBV endemic area)

  2. บุคคลที่ใกล้ชิดสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี

  3. ผู้ที่ใช้ยาเสพย์ติดฉีดเข้าหลอดเลือด

  4. ชายรักร่วมเพศ (Homosexual Men)

  5. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก

  6. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  7. ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยไตเทียม

  8. ผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ผู้ทุพพลภาพหรือเด็กปัญญาอ่อน

  9. เจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ

วิธีป้องกันโรคตับอักเสบบีและโรคแทรกซ้อนต่างๆ อันเป็นผลติดตามจากการติดเชื้อโรคตับอักเสบบีที่ได้ผลดี คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

 

การตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน

            เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ระบาดมากในประเทศไทย มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติหรือเป็นพาหะ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน ประกอบกับราคาของวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างสูง ก่อนจะฉีดวัคซีนจึงแนะนำให้ตรวจเลือดก่อน

 

การตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อการฉีดวัคซีนนั้นจะตรวจกันอยู่ 3 อย่างคือ

 

  1. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (บางทีก็เรียกว่า การเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี) ได้แก่การตรวจ HBs Ag

  2. ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ HBs Ab หรือ anti HBs

  3. ภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสตับอักเสบบี หรือเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ได้แก่ HBc Ab หรือ anti HBc  ซึ่งถ้าพบตัวใดตัวหนึ่ง (Positive) ก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน

 


วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ (Hepatitis B Vaccine)

ชนิดของวัคซีน

            วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เป็นวัคซีนชนิดน้ำ เตรียมจากโปรตีนผิวนอกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ผลิตจากพลาสมา (plasma-derived vaccine) โดยแยกเอา HBsAg ออกมาจากพลาสมา (ส่วนที่เป็นน้ำของเลือด) ของผู้ที่เป็นพาหะแล้วนำไปทำให้บริสุทธิ์ และชนิดที่ผลิดด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม (recombinant vaccine) โดยสอดสารพันธุกรรมที่กำหนดการสร้าง HBsAg เข้าในเซลล์บางชนิด เช่น เซลล์ยีสต์ หรือเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แล้วทำให้เซลล์เหล่านี้สร้าง HBsAg ออกมา แล้วจึงแยกเอา HbsAg ทำให้บริสุทธิ์แล้วนำมาเป็นตัววัคซีน

 

ส่วนประกอบของวัคซีน

            วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีไม่ว่าจะเป็นชนิดที่ผลิตจากพลาสมา หรือชนิดที่ผลิตด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรมที่ผลิตจากบริษัทต่างๆ อาจมี HBsAg ในปริมาณตั้งแต่ 5 ถึง 40 ไมโครกรัมต่อ มล. แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบริษัทผู้ผลิต ผสมด้วย aluminium hydroxide และใช้ thimerosal เป็นสารกันเสีย

 

ขนาดบรรจุ

            มีขนาดบรรจุหลายขนาด ตั้งแต่ขวดละ 0.5 มล. ถึง 5 มล.

 

ขนาดและวิธีใช้

  • เด็กแรกเกิดถึง 10 ปี ฉีดครั้งละ 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปด้านนอกในเด็กเล็ก หรือบริเวณต้นแขนใน

  • เด็กโต เด็กอายุเกิน 10 ปี และผู้ใหญ่ ฉีดครั้งละ 1 มล. เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ไม่ควรฉีดที่สะโพก เพราะอาจฉีดเข้าในชั้นไขมันใต้หนังลงลึกไม่ถึงกล้ามเนื้อ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานต่ำ และต้องฉีดให้ครบชุด (3 ครั้ง)

 

อายุที่ควรฉีด

            ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้มากที่สุด คือเด็กแรกเกิด เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด สำหรับเด็กแรกเกิด ควรฉีดครั้งแรกโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ครั้งที่สองอายุ 1 - 2 เดือน (หากฉีดเร็วจะได้ผลดีขึ้น) และครั้งที่สามอายุ 6 - 7 เดือน สำหรับในกลุ่มอายุอื่น ฉีด 3 ครั้งเช่นกัน โดยฉีดครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1 - 2 เดือน และครั้งที่สามห่างจากครั้งที่สอง 5 - 6 เดือน

 

ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีน

            เด็กที่ได้รับวัคซีนบางรายบริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวม หรือมีไข้ต่ำๆ อาการมักเริ่มราว 3 - 4 ชั่วโมงหลังฉีดและเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ควรให้ยาลดไข้แก่เด็กที่มีไข้หรือร้องกวน

 

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

            ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง วัคซีนเข็มที่สามถือเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันโรคสูงขึ้นและอยู่ได้นานหลายปี โดยทั่วไปที่ได้รับวัคซีนครบสามครั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก และปัจจุบันนี้วัคซีนมีคุณภาพสูง เมื่อฉีดแล้วก่อให้เกิดภูมิเกือบ 100% ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่ภายหลังการฉีดวัคซีน เว้นไว้ในกรณีที่อยู่ในกลุ่มที่มีบุคคลใกล้ชิด หรือสามี-ภรรยาเป็นพาหะ อาจตรวจดูภูมิคุ้มกันว่าพบ (อยู่ในระดับที่สูงพอต่อการป้องกันโรค)หรือไม่ โดยอาจตรวจทุกๆ 5 ปี ถ้าภูมิต่ำก็พิจารณาฉีดกระตุ้น 1 เข็ม นอกจากนี้การฉีดกระตุ้นอาจจะพิจารณาให้สำหรับผู้ที่มีสภาพภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยไตพิการที่ต้องล้างไต (hemodialysis) เป็นประจำ

            เนื่องจากเด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะได้ง่าย จึงควรให้วัคซีนครั้งแรกแก่เด็กแรกเกิดทุกคนภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากให้วัคซีนเข็มแรกช้า จะป้องกันการติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะได้น้อยลง การให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีพร้อมวัคซีนชนิดอื่น จะไม่มีผลเสียต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีหรือวัคซีนชนิดอื่นที่ให้พร้อมกัน วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีทั้งชนิดที่ผลิตจากพลาสมาหรือผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม ถ้าชนิดใดชนิดหนึ่งขาดไปสามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้น เด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งก่อนเป็นวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีชนิดหนึ่ง ในครั้งต่อไปอาจรับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่ผลิตโดยกรรมวิธีต่างกันได้ โดยไม่มีผลเสียแต่ประการใด

 

การเก็บและการหมดอายุ

            เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 ถึง 8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะวัคซีนจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ถ้าเก็บถูกต้องจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปีนับตั้งแต่วันผลิต ทั้งนี้ ให้ตรวจดูฉลากวันหมดอายุก่อนใช้เสมอ

 

การตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน

  1. เด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 10 ปี) ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน

  2. เด็กโต (อายุ 10 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาแล้ว ซึ่งอาจมีภูมิคุ้มกัน โรคแล้วตามธรรมชาติ หรือเป็นพาหะ ซึ่งจะไม่ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะรับวัคซีน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์อาจจะให้ตรวจเลือดประกอบกับการพิจารณาว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่

 

การให้อิมูโนโกลบุลินในเด็กแรกเกิด

            ในกรณีที่มีการตรวจเลือดแม่ก่อนคลอดและทราบว่าแม่เป็นพาหะ แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินต้านตับอักเสบบี (Hepatitis B Immune Globulin : HBIG) แก่เด็กที่คลอดจากแม่ผู้นั้น ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจากแม่

Visitors: 225,356