ตาบอดสี (Color Blindness)

ตาบอดสี (Color Blindness)


เรือเอกนายแพทย์ เอกลักษณ์ ธรรมสุนทร
แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม)
วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาศัลยศาสตร์
อนุมัติบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

A bull is completely Color-Blind.
It becomes aggressive because of a motion of an object.


ถ้าจะกล่าวกันตามตรงแล้วการที่เรียกผู้ที่ตาบอดสีว่า “ตาบอดสี” ดูเหมือนจะไม่ถูกต้องนัก เพราะคำว่า บอด นั้น น่าจะหมายถึง ไม่เห็น, ไม่มี มากกว่า ดังนั้น คำว่า ตาบอดสี ถ้าแปลกันตรงๆ คือคนที่มองไม่เห็นสีนั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่ตาบอดสี ก็ยังมองเห็นสี เพียงแต่มีความบกพร่องในการแยกเฉดสีเท่านั้น กว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ตาบอดสี สามารถแยกสีในชีวิตประจำวัน (รวมถึงไฟแดง ไฟเหลือง ไฟเขียว) ไม่แตกต่างจากคนปกติ มีคนจำนวนมากไม่รู้ตัวเลยว่าตาบอดสีมาตลอดชีวิต จนกระทั่งต้องมีการตรวจก่อนเข้าทำงาน จึงจะทราบว่าตนเองมีภาวะตาบอดสี
โรคตาบอดสี พบได้ประมาณ 8% ของประชากร ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยที่สุดจะเป็นแบบชนิดบอดเขียว-แดง (red-green color blindness) ซึ่งผู้ชาย 10 คน จะพบภาวะนี้ 1 คน และก็ยังมีตาบอดสีชนิดอื่นๆ อีก เช่น ฟ้า-เหลือง สำหรับผู้หญิงนั้น 200 คน จะพบภาวะตาบอดสีได้ 1 คน

blue-violet green red

ธรรมชาติของการมองเห็นสี
ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องตาบอดสี เราควรจะรู้ถึงธรรมชาติในการมองเห็นสีของตามนุษย์เสียก่อน โดยปกติแล้วตาคนเราที่บริเวณจอรับภาพด้านหลังของลูกตา (Retina) จะมีเซลล์รับแสง (photoreceptor) อยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเซลล์รับแสงที่รับรู้ถึงความมืดหรือสว่าง ไม่สามารถแยกสีออกได้และจะมีความไวต่อการกระตุ้น แม้ในที่ที่มีแสงเพียงเล็กน้อย เช่น เวลากลางคืน เรียกว่า Rod cell เซลล์กลุ่มที่สองเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่มองเห็นสีต่างๆ โดยจะแยกได้เป็นเซลล์อีก 3 ชนิด ตามระดับคลื่นแสงหรือสีที่กระตุ้น คือ เซลล์รับแสงสีเขียว ซึ่งรับแสงในช่วงความยาวคลื่นสีเขียว, เซลล์รับแสงสีน้ำเงินซึ่งรับแสงในช่วงความยาวคลื่นสีน้ำเงินและ เซลล์รับแสงสีแดงซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไวต่อการรับแสงในช่วงความยาวคลื่นสีแดง แต่ก็จะไวต่อการรับแสงในช่วงความยาวคลื่นสีเหลืองด้วย เซลล์ต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า Cone cell
สำหรับแสงสีอื่นๆนอกจากนี้ จะกระตุ้นเซลล์ดังกล่าวนี้มากกว่าหนึ่งชนิด แล้วให้สมองเราแปลภาพออกมาเป็นสีที่ต้องการ เช่น สีม่วง เกิดจากแสงที่กระตุ้นทั้งเซลล์รับแสงสีแดง และเซลล์รับแสงสีน้ำเงิน ในระดับที่พอ ๆ กัน การเกิดสีต่าง ๆ ที่มองเห็นเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับหลอดภาพของจอ T.V นั่นเอง ซึ่งเซลล์กลุ่มที่สองนี้จะทำงานได้ดีต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ดังนั้นในที่สลัว ๆ เราจึงไม่สามารถแยกสีของวัตถุได้แต่ยังพอบอกรูปร่างได้ เนื่องจากมีการทำงานของเซลล์ในกลุ่มแรกอยู่ ต่อเมื่อเพิ่มแสงสว่างขึ้น เราจึงมองเห็นสีต่าง ๆ ขึ้นมา

กระบวนการรับรู้และแยกความแตกต่างของสี
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ถ้าตาบอดสีก็น่าจะรู้ตัวตั้งแต่เริ่มเข้าสังคมกับคนภายนอกแล้ว เพราะสาเหตุใดจึงมาทราบต่อภายหลัง ทั้งนี้เพราะความสามารถในการรับรู้และแยกความแตกต่างระหว่างสีต่าง ๆ นั้นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ เพราะตั้งแต่เด็กเราได้รับการสั่งสอนให้เรียกชื่อสีต่าง ๆ ที่เราเห็นตามผู้สอน หากแต่สีที่แต่ละบุคคลรับรู้นั้นอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสีที่จอประสาทตาโดยสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสอนมา ดังนั้นเราอาจเห็นสีผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่สามารถเรียกชื่อสีได้ถูกต้องตามผู้สอนก็เป็นไปได้ หรือเกิดจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มีผลโดยตรงกับจอประสาทตา, เส้นประสาทตาและสมอง

ตาบอดสี
เป็นคำที่เรียกกันมานานแต่ไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะที่จริงแล้ว ตาบอดสีแบ่งได้เป็นหลายระดับ และผู้ป่วยตาบอดสีส่วนใหญ่ก็มักจะไม่บอดสีจริง ๆ เพียงแต่มองเห็นสีแตกต่างไปจากคนปกติเท่านั้น
โดยทั่วไปเราจะแบ่งตามความผิดปกติของเซลล์รับแสง(สี) เป็นตาบอดสีแดง ตาบอดสีเขียว และตาบอดสีน้ำเงิน ซึ่งอาจบอดสีเพียงสีเดียว, สองสี หรือ ทั้งสามสีก็ได้ สำหรับตาบอดสีแดงจะเรียกว่า protanopia, ตาบอดสีเขียวเรียกว่า deuteranopia, ตาบอดสีน้ำเงินเรียกว่า tritanopia คนที่ตาบอดสีน้ำเงินจะไม่สามารถแยกระหว่างมีน้ำเงินกับสีเหลืองได้ คนที่ตาบอดสี
ตาบอดสีใด คือ การขาดเซลล์ที่รับแสงสีนั้น หรือเซลล์ที่รับสีทำงานบกพร่องนั่นเอง ดังนั้นแสงที่ได้รับจะกระตุ้นเฉพาะเซลล์ที่เหลือเท่านั้น อาจเปรียบได้กับการวาดภาพ ก็คือ แทนที่เราจะมีสีสามสีที่ผสมกันให้เป็นสีต่าง ๆ เราก็จะมีเพียงสองสีเท่านั้นที่ใช้ผสมกัน ดังนั้น สีที่เห็นก็จะเป็นสีที่แตกต่างจากคนปกติที่มองเห็น ตัวอย่างเช่น คนที่ตาบอดสีเขียว ก็จะเห็นเฉดสีตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีน้ำเงิน และสีที่เกิดจากการผสมของสองสีนี้คือ ม่วงแดง ม่วง และคราม แสงที่ปกติควรจะเป็นสีเขียว (เพราะไปกระตุ้นเซลล์สีเขียว แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีเซลล์สีเขียวเสียแล้ว) แต่จะกระตุ้นเซลล์สีน้ำเงิน และเซลล์สีแดงอย่างละเล็กน้อย โดยกระตุ้นสีแดงมากกว่าสีน้ำเงินเล็กน้อย ทำให้มองเห็นเป็นสีม่วงแดง คนตาบอดสีก็จะมองเห็นวัตถุที่เป็นสีเขียวดูคล้ายกับสีม่วงแดง ทำให้สับสน หรือเรียกผิดได้ เป็นต้น


เรายังสามารถแบ่งตาบอดสีออกเป็นตามระดับของความผิดปกติในการรับแสง(หรือสี) นั้น ซึ่งผู้ที่เห็นสีบกพร่องนี้ก็จะเห็นสีผิดไปจากปกติแต่ไม่รุนแรงเท่าตาบอดสีกลุ่มแรก นอกจากนี้ยังมีตาบอดสีบางประเภทที่มีความผิดปกติของเซลล์รับสีมากกว่าหนึ่งตัว หรือไม่มีเซลล์รับสีเลย(Total Color – blindness: Monochromatism) คนกลุ่มนี้ก็จะแยกสีไม่ได้เลย (มองเห็นเป็นสีขาว-ดำ หรือเฉดสีเทา) และมักจะมีสายตาที่ผิดปกติร่วมด้วย อย่างไรก็ตามความผิดปกตินี้พบได้น้อยมากและพบได้ในผู้หญิงพอๆกับผู้ชาย

สาเหตุของตาบอดสี
ความผิดปกติแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด(congenital color vision defects)
2. กลุ่มที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง (acquired color vision defects)
มักพบกลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นตั้งแต่กำเนิดบ่อยกว่ากลุ่มที่เป็นภายหลัง เมื่อพิจารณาในกลุ่มที่เป็นตั้งแต่เกิด กลุ่มย่อยที่พบได้บ่อยที่สุด คือ กลุ่มที่บอดสีเขียว-แดง หรือเรียกว่า Dichromatism ซึ่งพบได้ประมาณ 5-8% ในผู้ชาย และพบเพียง 0.4 - 0.5% ในผู้หญิง (ผู้ชายพบได้บ่อยกว่ามาก) ส่วนในกลุ่มที่เป็นภายหลัง มักพบเป็นการบอดสีน้ำเงิน-เหลือง และพบได้พอ ๆ กันทั้งชายและหญิง ซึ่งจำนวนคนที่เป็นในกลุ่มนี้น้อยกว่ากลุ่มที่เป็นแต่กำเนิดมาก

กลุ่มที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด(Congenital color vision defects)
เป็นภาวะที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเป็นลักษณะด้อยซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยโครโมโซม X ที่เรียกว่า X -link recessive การที่พบโรคนี้ในผู้ชายมาก ทั้งนี้เพราะ ความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง ซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม X

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องโครโมโซมซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมก่อนดังนี้ ในเพศชายจะมีโครโมโซมเป็น XY คือมี X 1 หน่วย และ Y 1 หน่วย ส่วนเพศหญิง จะมีโครโมโซมเป็น XX ซึ่งมี X 2 หน่วย เมื่อมีลูก โครโมโซมของพ่อและแม่จะแยกกัน และจับคู่กันเป็นโครโมโซมของลูก โดยจะได้โครโมโซมจากพ่อกับแม่มาอย่างละครึ่ง โดยการจับคู่นี้จะจับอย่างไร ก็จะเกิดขึ้นตามโอกาสความน่าจะเป็น (ตามแผนภาพ) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าลูกชาย จะได้โครโมโซม X จากแม่เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็น X หน่วยใดหน่วยหนึ่งก็ได้ และได้โครโมโซม Y จากพ่อ ส่วนลูกสาวจะได้โครโมโซม X จากพ่อ 1 หน่วยและจากแม่ 1 หน่วย ซึ่งโครโมโซม X จากแม่จะเป็นหน่วยในหน่วยหนึ่งก็ได้
จากข้อเท็จจริงที่ว่าโครโมโซม Y นั้น มีขนาดเล็กกว่า โครโมโซม X จึงไม่สามารถที่จะข่มลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่จะถ่ายทอดมาทางโครโมโซม X ได้ ดังนั้นถ้ามีลักษณะด้อยใดที่ติดมากับโครโมโซม X เช่น หัวล้าน หรือตาบอดสี ก็จะทำให้ผู้ชายคนนั้นแสดงอาการของตาบอดสีออกมา ในขณะที่เพศหญิงถ้าหน่วย X นี้มีลักษณะด้อยตาบอดสีเพียงหน่วยเดียว โครโมโซม X อีกหน่วยก็จะข่มลักษณะด้อยนี้ไว้ ทำให้ไม่เกิดตาบอดสี แต่ก็เป็นพาหะทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดลักษณะด้อยตาบอดสีนี้ไปยังลูกหลานได้ เพศหญิงจะเกิดตาบอดสีได้เมื่อ โครโมโซม X ทั้ง 2 หน่วยมีลักษณะด้อยตาบอดสีทั้งคู่
ลักษณะอาการที่ตรวจพบคือ ตาทั้ง 2 ข้างจะมีอาการมองเห็นสีผิดปกติเหมือนกันคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ที่สามารถเห็นสีได้ปกติ จะต้องมีเซลล์รับแสงสีที่จอประสาทตาครบทั้ง 3 สี คือ แดง เขียว และน้ำเงิน และมีปริมาณเม็ดสีในเซลล์ที่ปกติ รวมทั้งระบบประสาทตาและการแปลผลที่เป็นปกติด้วย ผู้ป่วยมักมีการรับรู้สีเขียวหรือแดงผิดไป แยกสีเขียวกับแดงได้ลำบาก ส่วนความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีน้ำเงินนั้นถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม 7 จึงมีการถ่ายทอดแบบ Autosomal dominant ซึ่งจะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อย

กลุ่มที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง (Acquired color vision defects)
เกิดจากการถูกทำลายของจอประสาทตา เส้นประสาทตา หรือส่วนรับรู้ในสมองจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุ เนื้องอก การเสื่อมลงของจอประสาทตา หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี
ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรียกชื่อสีหรือเห็นสีผิดไปจากเดิม โดยมากพบความผิดปกติของการมองสีน้ำเงินเหลืองมากกว่าแดงเขียว ความผิดปกติของตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง 2 ตา มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือลดลงได้ รวมทั้งมีความผิดปกติของสายตาด้านอื่นๆ เช่น การมองเห็นและลานสายตาลดลงได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค

กล่าวโดยสรุป เป็นเพราะพันธุกรรม ตาบอดสีจึงพบในเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายประมาณ 16 เท่า คือ ประมาณ 0.4% ของประชากร ขณะที่ตาบอดสีทั้งหมด จะพบ 10% ของประชากรและเป็นการมองเห็นสีเขียวบกพร่องเสียประมาณ 5% ของประชากร ตาบอดสีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ตาบอดสีที่เป็นภายหลัง มักเกิดจากโรคทางจอประสาทตาหรือโรคของเส้นประสาทตาอักเสบ มักจะเสียสีแดงมากกว่าสีอื่น และอาจเสียเพียงเล็กน้อย คือดูสีที่ควรจะเป็นนั้นดูมืดกว่าปกติ หรืออาจจะแยกสีนั้นไม่ได้เลยก็ได้
การที่พบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเป็นกับแบบ แดง-เขียวแทบทั้งหมด เนื่องจากว่ายีนที่ควบคุมการสร้างรงควัตถุรับสีชนิดสีแดง และสีเขียวนั้น (red-pigment gene, green-pigment gene) อยู่บนโครโมโซม X เมื่อยีนนี้ขาดตกบกพร่องไปในคนใดคนหนึ่ง ก็จะทำให้คนนั้นสามารถรับรู้สีเหล่านั้นได้ลดลงกว่าคนปกติ แน่นอนว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นน้อยกว่า เนื่องจากในผู้หญิงมีโครโมโซม X ถึงสองตัว ถ้าเพียงแต่ X ตัวใดตัวหนึ่งมียีนเหล่านี้อยู่ ก็สามารถรับรู้สีได้แล้ว ในขณะที่ผู้ชายมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว อีกตัวเป็น Y ซึ่งไม่ได้มียีนนี้ด้วย ก็จะแสดงอาการได้เมื่อ X ตัวเดียวเท่าที่มีอยู่นั้นบกพร่องไป


ตรวจ และวินิจฉัย
โดยจักษุแพทย์จะซักประวัติ อาการผู้ป่วยร่วมกับการตรวจการรับรู้ของสี และตรวจตา เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษา การทดสอบตาบอดสีมีหลายวิธี วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดเห็นจะเป็นวิธีของ Prof. Dr. Shinobu Ishihara จาก Tokyo คือ แบบทดสอบที่มีวงกลมวงใหญ่และมีจุดสีเล็กๆ ข้างในจะซ่อนตัวเลขและเส้นเอาไว้ มีทั้งหมด 24 รูป และให้ผู้ทดสอบอ่าน โดยตรวจการมองเห็นทีละข้างเพราะอาการตาบอดสีอาจจะมีความผิดปกติเฉพาะตาข้าง ใดข้างหนึ่งอาจจะไม่ได้บอดสีทั้งสองข้าง ซึ่งพบได้ในพวกที่เป็น โรคเกี่ยวกับเส้นประสาทตา และเกิดขึ้นภายหลังมิใช่พันธุกรรม หากสามารถอ่านและลากเส้นได้ถูกต้องทั้งหมด ถือว่าตาปกติ นอกจากนี้อาจใช้เครื่องมือช่วยการตรวจหลายอย่าง เช่น ให้ทดสอบเรียงเม็ดสีตามแบบที่กำหนดไว้
โรคตาบอดสีอาจหายได้พบได้ในพวกที่เป็นโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทตา และเกิดขึ้นภายหลังมิใช่พันธุกรรมแต่ถ้าหากเกิดขึ้นจากพันธุกรรมยังไม่มีทางรักษา ดังนั้นเมื่อเกิดอาการมองเห็นสีผิดปกติไปให้รีบมารับการตรวจรักษา อาจป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติถาวรได้

ข้อควรจำ
ในผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและโอกาสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในหมู่ญาติ ส่วนผู้ที่มีภาวะตาบอดสีภายหลัง ควรรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ตาบอดสีกับชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีอนุโลมให้ขับรถได้แต่ ต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการบอกสีของสัญญาณ ไฟจราจรได้ถูกต้อง เพราะผู้เป็นโรคตาบอดสีจะทราบว่าตนเองบอดสีอะไร หรือต้องสามารถแยกได้ว่าตำแหน่งใดเป็นสัญญาณไฟสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว หากแยกสีเหล่านี้ได้ถูกต้องก็สามารถปฏิบัติตามกฎจราจรได้ หากผู้ป่วยเป็นมากโดยบอดสีเหล่านี้ทั้งหมด และไม่สามารถแยกสีได้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้
ปัจจุบันนี้ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องตาบอดสี ทำให้คนตาบอดสีถูกห้ามไม่ให้ขับรถ หรือทำงานในบางหน่วยงานหรือเรียนหนังสือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่ตาบอดสีเพียงแต่เห็นสีผิดไปจากสีที่เป็นจริงไม่ใช่มองไม่เห็นสีเลย เราพบว่าคนที่ตาบอดสีส่วนใหญ่เรียกสีถูก บอกความแตกต่างของไฟจราจรได้ และก็ทำงานส่วนใหญ่ได้เหมือนคนปกติ เว้นเสียแต่จะมีสีในบางแถบสีที่ทำให้เขาสับสน ในแบบทดสอบจะมีการออกแบบสีในช่วงของแถบสีที่ทำให้คนตาบอดสีดูสับสน ซึ่งโดยโดยปกติในชีวิตประจำวันคนตาบอดสีจะพบสีดังกล่าวน้อยมาก ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ก็เคยมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งหลังจากมีการรณรงค์โดยจักษุแพทย์กลุ่มหนึ่ง มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงยอมรับเด็กเหล่านี้เข้าเรียนได้
อย่างไรก็ตาม มีอาชีพที่คนตาบอดสีไม่ควรทำได้แก่ อาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะสีเป็นสำคัญ เช่น นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี, จิตรกร, พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า (QC), ฯลฯ นอกจากนี้อาชีพที่ไม่ควรรับคนตาบอดสีทำงานก็คือ อาชีพที่ต้องมีการใช้สีเป็นตัวแสดงถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น ในอุปกรณ์อิเลคโทรนิค, นักบิน, นักเดินเรือ เป็นต้น
นอกจากนี้พบว่าตาบอดสีไม่ใช่จะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น เราพบว่าคนตาบอดสีสับสนในเรื่องของสี แต่มีความสามารถในการแยกสีเฉดเดียวกันที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยได้ดีกว่าคนปกติ เช่น คนตาบอดสีเขียวจะแยกสีที่คล้ายกัน เช่น เขียวอ่อน เขียวอมเหลืองได้ดี ในบางประเทศ เช่น อิสราเอล มีการรับคนที่ตาบอดสีเข้าประจำในกองทัพบก เพราะคนเหล่านี้จะมองเห็นรถถังที่ทาสีพรางตัวอยู่ในภูมิประเทศได้ดีกว่าคนธรรมดา

Visitors: 225,203