ประวัติความเป็นมา
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สุขภาพจึงมีความหมายใหญ่กว่าเรื่องโรคเท่านั้น การสร้างเสริมสุขภาพให้มนุษย์ทุกคนมีสุขภาพดีที่สุด อายุยืน มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงควรเป็นอุดมการณ์สูงสุด
การมีสุขภาพดีหรือความไม่มีโรค อันเป็นสิ่งที่ปรารถนายิ่งของคนทั้งหลายดังกล่าว คือ การไม่ปรารถนาให้มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น; หรือรองลงมาก็คือ ถ้าต้องมีโรคเกิดขึ้น ก็ขอให้เป็นแต่เพียงเล็กน้อยและหายโดยไว; หรือน้อยที่สุด ถ้าต้องเป็นโรคหนัก ก็ขออย่าให้ถึงกับพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตเลย ทั้งนี้การป้องกันและการสร้างเสริมสุขภาพจะเป็นเครื่องยังความปรารถนาดังกล่าวนี้ให้เป็นผลสำเร็จได้
ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า ในการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน คนหรือประชากรของประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา ถ้าสุขภาพของคนดี ไม่เจ็บป่วย การพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าสุขภาพของคนไม่ดี เกิดการเจ็บป่วย การพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพหรือล้มเหลว จะเห็นได้ว่าปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชน หรือปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ดังนั้น ระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชากรจะต้องอยู่ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
การตรวจสุขภาพ (Medical check-up) เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยในการสร้างเสริมสุขภาพ เนื่องจากเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคได้ทั้ง 3 ระดับของการป้องกันทางเวชกรรม (Medical Prevention) กล่าวคือ
1) การป้องกันปฐมภูมิ (Primary Prevention) คือ การป้องกันก่อนการเกิดโรค ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการปรับเปลี่ยนความเสี่ยง (Risk Modification) ได้แก่ การงดสูบบุหรี่, การงดแอลกอฮอล์และสารเสพย์ติด, การปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน, การสร้างเสริมการออกกำลังกาย, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศ, การปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมทั้งการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ และการให้ยาเพื่อป้องกันโรค การตรวจสุขภาพจะมีการสัมภาษณ์ประวัติและสอบถามความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้รับตรวจ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปรับเปลี่ยนความเสี่ยงข้างต้นได้
2) การป้องกันทุติยภูมิ (Secondary Prevention) คือ การตรวจค้นหาโรคให้พบตั้งแต่ระยะต้น ๆ ก่อนมีลักษณะทางคลินิกปรากฏ เช่น การทดสอบทูเบอร์คุลิน, การตรวจเซลล์เยื่อบุปากมดลูก เป็นต้น; รวมทั้งหมายรวมถึง การดำเนินมาตรการเพื่อหยุดยั้งหรือชะลอให้โรคนั้นดำเนินไปช้าลง การตรวจสุขภาพก็เป็นการค้นหาโรคตั้งแต่ระยะไม่ปรากฏอาการ ทำให้เมื่อตรวจพบผลการรักษาดีและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
3) การป้องกันตติยภูมิ (Tertiary Prevention) คือ การหยุดยั้งภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่โรคปรากฏ ลักษณะทางคลินิก ในกรณีที่ผู้รับตรวจได้เข้าสู่ระยะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคแล้ว การตรวจสุขภาพเป็นการเฝ้าระวังสุขภาพ ป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่
แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลได้จัดให้มีการประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างการบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ และรัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการสร้างเสริมและป้องกันสุขภาพ
โดยที่ปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันและพัฒนากระบวนการผลิตและการบริการสูงมาก เพื่อยกระดับการบริการและการผลิตให้เข้าสู่ระดับสากล ซึ่งจะยังผลให้สามารถเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและดูแลบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานที่สามารถเป็นที่ปรึกษา ดูแล ฝึกอบรม และตรวจสุขภาพของบุคลากรเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้การผลิตและการบริการที่มีมาตรฐาน
ด้วยแนวคิดดังกล่าวเป็นเหตุให้กลุ่มแพทย์ พยาบาล นักวิชาการหลายฝ่ายผู้มองเห็นการณ์ไกลในการที่จะสานประโยชน์ร่วมกัน จึงได้ตั้งสัตยาบันที่จะช่วยเหลือสังคมและพัฒนาธุรกิจของประเทศให้ก้าวไกล โดยอาศัยพื้นฐานของความถูกต้องตามหลักวิชา มาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ บริษัทโกลบอลเมดิกส์ จำกัด จึงได้ก่อตั้งและเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พุทธศักราช 2544 และได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2544 โดยมีผู้ก่อตั้งคือ เรือเอกนายแพทย์ เอกลักษณ์ ธรรมสุนทร โดยได้มีการขยายกิจการและพัฒนาศักยภาพการบริการมาโดยลำดับดังนี้
- ปี 2544 เริ่มตั้งสำนักงานครั้งแรกอยู่บนพื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ณ ชั้น 2 ของธรรมสุนทรโพลีคลินิก มีพนักงานเริ่มแรก 3 คน เริ่มจัดตั้งห้องปฏิบัติการ และมีรถเอกซเรย์ จำนวน 1 คันได้แก่ “ทองนพคุณ”
- ปี 2545 ได้ย้ายสำนักงานไปที่ 308/1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทร. 0-2615-2130-4 โทรสาร 0-2278-1328 ภายใต้การสนับสนุนของคุณเครือวัลย์ สมณะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซึ่งที่สำนักงานแห่งนี้ได้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลเพื่อรองรับการบริการแบบเชิงรับ มีการเริ่มให้บริการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน มีการออกรถเอกซเรย์รูปแบบใหม่ ซี่งต่อมาทั้งสองได้เป็นต้นแบบของสถานประกอบการอื่นๆ และเป็นที่ที่บริษัทฯ ได้ริเริ่มจัดทำระบบคุณภาพเป็นครั้งแรก และถือเป็นสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ขณะเดียวกันได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการตรวจสุขภาพ “SUPERMAN” สำเร็จ จำนวนพนักงานในขณะนั้นประมาณ 50 คน จำนวนรถเอกซเรย์ 2 คัน ได้แก่ “ทองนพคุณ” และ “ทองนพเก้า” ภายหลังต่อมาคุณเครือวัลย์ สมณะ ไม่ได้ให้การสนับสนุนบริษัทฯ ดังเช่นเดิมจึงต้องย้ายที่ทำการไปที่ทำการใหม่
- ปี 2549 ได้ย้ายสำนักงานไปที่ 622 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทรศัพท์ : 0-2886-1500 โทรสาร : 0-2886-1600 ได้มีการเปิดสาขาเมืองไทยภัทรคอมเพล็กซ์ สาขายูไนเต็ดเซ็นเตอร์สีลม ได้มีการปรับปรุงระบบตรวจสุขภาพสู่ “SPIDERMAN” และ “GLOBAL LAB” จำนวนพนักงานประมาณ 70 คน และมีรถเอกซเรย์จำนวน 4 คัน ได้แก่ “ทองนพคุณ” “ทองนพเก้า” “ทองพันชั่ง” และ “ทองนพดล”
- ปี 2550 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ 68/87 หมู่ 7 ถนนท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จัดตั้งคลินิกเทคนิคการแพทย์ เพอร์เฟคเเล็บ
- ปี 2553 ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนของตราสินค้ามากยิ่งขึ้น บริษัท โกลบอลเมดิกส์ จำกัดได้ย้ายสถานที่ทำการไปอยู่ที่ 50/180 หมู่ 6 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170 และได้จัดตั้ง บริษัท เพอร์เฟคเฮลธ แคร์แอนด์เช็คอัพ จำกัดขึ้น โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน
- ปี 2557 วันที่ 17 มิถุนายน 2558 ได้เริ่มให้บริการ โรงพยาบาลพีเอชอินทิเกรทีฟเมดิคอลแคร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อรังขนาดเล็ก
- ปี 2558 มีรถเอกซเรย์จำนวน 5 คัน และปรับเป็นระบบ Digital ทั้งหมด เปิดสาขาตะวันนา-บางกะปิ
บริษัทฯ ทั้งสองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตและการบริการทุกขั้นตอนของกระบวนการ รวมถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์ และการบริการหลังการขายตามความต้องการของผู้รับบริการ