CBC คืออะไร?

การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (Complete Blood Count: CBC)


การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (Complete Blood Count: CBC)
บางคนก็เรียกว่า ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด, ตรวจความเข้มข้นของเลือด, ตรวจเลือดสมบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งออกจะไม่ค่อยถูกต้องนักเพราะเป็นการสื่อความหมายไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน
คำว่า CBC ที่คุณหมอหรือคุณพยาบาลพูดกันติดปากย่อมาจากคำว่า Complete Blood Count ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยตรงตัว และถูกต้องคือ "การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์" ที่บอกว่า "อย่างสมบูรณ์" เพราะตรวจนับทุกองค์ประกอบของเลือด(เม็ดเลือด) คือดูเม็ดเลือดทุกชนิดในเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, เกร็ดเลือด ไม่เฉพาะจำนวนเท่านั้น ยังดูถึงขนาด, รูปร่าง, การติดสี การเรียงตัว ฯลฯ ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะนำไปใช้วิเคราะห์วินิจฉัยโรคต่างๆต่อไป

 

 

 

 

+ เราตรวจอะไรบ้างใน CBC

 

ดังกล่าวแล้วว่า CBC เป็นการตรวจดูทุกองค์ประกอบของเลือด ดังนั้นการรายงานผลจำเป็นต้องประกอบด้วยค่าหลายๆค่า เช่น 

1. ความเข้มข้นของเลือด 

บางตำราเรียกว่า ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ซึ่งเป็นการแปลตรงตัวตามวิธีการตรวจ น่าจะเป็นคำภาษาไทยที่ตรงที่สุดแต่ไม่ค่อยสื่อความหมาย จึงขออนุญาตใช้คำว่าความเข้มข้นของเลือดแทนนะครับ ภาษาอังกฤษคือ Hematocrit 

2. ปริมาณฮีโมลโกลบิน (Hemoglobin)
เป็นสารที่มีความสำคัญในการขนถ่ายออกซิเจนไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย
3.ปริมาณเม็ดเลือดขาวและสัดส่วนของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ เช่น
- เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล(Neutrophil) บางคนเรียกว่าเซลล์จับกินแบคทีเรีย ก็พอเรียดได้ เพราะเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะขึ้นสูงในเวลาที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มันเป็นการบอกเฉพาะหน้าที่เพียงส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดขาวชนิดนี้เท่านั้น ในที่นี้จึงขอใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลยจะดีกว่านะครับ
- เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์ (Lymphocyte) เช่นเดียวกัน บางคนก็เรียกว่าเซลล์ต่อต้านไวรัส ด้วยเหตุเดียวกับที่อธิบายข้างต้น
- เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (Eosinophil) บางคนก็เรียกเซลล์บ่งภูมิแพ้
- เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล(Basophil)
-เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนซัยต์( Monocyte) บางคนเรียกเซลล์จับกินเซลล์ที่ตายแล้ว

3. ปริมาณเกร็ดเลือด
ปัจจุบันนี้สามารถนับได้ว่ามีกี่ตัวๆ ซึ่งจะรายงานเป็นตัวเลข เช่น 250,000/cu mm ซึ่งจะบอกถึงความสามารถของการแข็งตัวของเลือดได้ บางแห่งก็จะรายงานเป็น เพียงพอ (Adequate), เพิ่มขึ้น (Increase), หรือลดลง (Decrease)ซึ่งที่รายงานแบบนี้เพราะเป็นการตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ไม่ได้ตรวจด้วยเครื่อง

4. ลักษณะการติดสีและรูปร่างของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กและติดสีจาง มักพบในผู้ที่มีโลหิตจางจากการรับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอ (Iron Deficiency Anemia) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีค่าอื่นๆอีกรวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 ค่า ค่าต่างๆเหล่านี้อาจมีบางค่าสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย หรือตำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยได้บ้าง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความสัมพันธ์ของค่าดังกล่าวนี้แล้วสรุปว่าปกติหรือไม่ หรือเป็นโรคอะไร

สรุปแล้ว CBC เป็นการตรวจหลายๆอย่าง ไม่ใช่การตรวจเฉพาะเพียงค่าใดค่าหนึ่ง เช่น ความเข้มข้นของเลือด เพียงอย่างเดียวหรือ มีค่าเพียง 2-3 ค่าแล้วบอกว่านี่คือการตรวจ CBC

+ การตรวจ CBC จะบอกอะไรบ้าง
เป็นการตรวจดูสภาวะร่างกายทั่วๆไป คือมีโลหิตจางหรือไม่ มีการติดเชื้อต่างๆในร่างกายหรือไม่ คือเป็นการดูสภาวะร่างกายคร่าวๆ จึงเป็นการตรวจพื้นฐานที่นิยมใช้ประเมินสภาพร่างกายเบื้องต้น ทั้งในการตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจร่างกายอื่นๆ เข่น เตรียมตัวก่อนผ่าตัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม CBC ก็ใช้วินิจฉัยโรคบางชนิดได้ เช่น โรคมาเลเรีย, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, โลหิตจาง ฯลฯ เป็นต้น

+ เขาตรวจ CBC กันอย่างไร
มีวิธีการตรวจอยู่หลายวิธีดังนี้
1. การตรวจ CBC ด้วยวิธีดั้งเดิม (ปัจจุบันนี้ก็ยังทำอยู่)
ก็คือการนำเลือดมาตรวจบนแผ่นสไลด์ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ และนำเลือดบางส่วนมาปั่นเพื่อหาค่าความเข้มข้นของเลือด(ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น) ส่วนการตรวจเม็ดเลือดขาวก็นำมาผ่านกรรมวิธีทำลายเม็ดเลือดแดงแล้วจึงเอามาใส่สไลด์แล้วส่องกล้องเพื่อนับปริมาณเม็ดเลือดขาวอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้เป็นวิธีที่แน่นอนเป็น conventional method เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์ทั่วโลก แต่มีข้อเสียคือ ใช้เวลา ในกรณีที่ต้องตรวจเป็นจำนวนมาก เช่นในการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นหมู่คณะจะไม่สามารถกระทำได้เพราะใช้เวลาและมีรายละเอียดการทำค่อนข้างมาก ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ การวินิจฉัยบางโรคจำเป็นต้องใช้อายุรแพทย์ทางโลหิตวิทยา จึงมีผู้ประยุกต์โดยใช้วิธีที่ 2
2. วิธีตรวจด้วยการประมาณ
เป็นวิธีที่ใช้หลักการเดียวกับวิธีที่1 แต่ตัดขั้นตอนที่ละเอียดและใช้เวลาลง โดยการ นำเลือดมาปั่นหาค่าความเข้มข้นของเลือด และดูจากสไลด์เท่านั้น ซึ่งปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ได้ก็จะเป็นการกะประมาณ ค่าอื่นๆ เช่น ปริมาณฮีโมโกลบินก็ไม่สามารถตรวจได้ วิธีนี้มีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ไม่สามารถเป็นตัววินิจฉัยหรือคัดกรองได้ และมีโอกาสพลาดได้หากตรวจเป็นจำนวนมากๆ และยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์
3. การตรวจด้วยเครื่อง Fully automatic blood analyzer เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการตรวจ CBC ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีตัวอย่างเลือดต้องตรวจมาก วิธีนี้ข้อดีคือรวดเร็ว ภายใน 1 นาทีก็ได้ผลแล้ว และแน่นอน ผิดพลาดน้อยมาก ใช้เป็นการ screening เบื้องต้นได้ เพราะสามารถตรวจองค์ประกอบของเลือดได้ละเอียดมากถึง 18-22 ค่า คือดูทุกแง่ทุกมุม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือถ้ามีผลการตรวจที่ผิดปกติต้องตรวจซ้ำโดยวิธีที่ 1 เพราะการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะ การติดสีของเม็ดเลือดนั้น คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าวิธีที่ 1 และ 2 3-4 เท่า

ข้อพิจารณาอย่างหนึ่งในการตรวจ CBC คือการตรวจนั้นจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 24 ชัวโมงหลังเจาะเลือดมาแล้ว เพราะแม้ว่าจะมีการใส่สารกันเลือดแข็งเพื่อรักษารูปร่างของเม็ดเลือดแล้วก็ตาม ขนาดของเม็ดเลือดขาวที่ออกมานอกร่างกายจะค่อยๆเล็กลงและแตกสลายไป เมื่อมาทำการตรวจไม่ว่าจะเป็๋นวิธีใด ก็ตรวจได้สามารถรายงานค่าได้เหมือนกัน แต่ค่าที่ได้จะไม่เป็นค่าที่แท้จริง เท่ากับสูญเปล่าโดยเปล่าประโยชน์

สาเหตุนี้เอง โรงพยาบาลใหญ่ๆหรือศูนย์การแพทย์ที่มีคนไข้ที่ต้องตรวจ CBC เป็นจำนวนมากจึงนิยมใช้การตรวจด้วยวิธีที่ 3 เพื่อรักษาคุณภาพ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าหลายเท่าตัวก็ตาม

Visitors: 224,523