ยาบ้าและสารเสพติด
ยาบ้าและสารเสพติด
เรือเอกนายแพทย์ เอกลักษณ์ ธรรมสุนทร
แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม)
วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขา ศัลยศาสตร์
อนุมัติบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
ประกาศนียบัตรแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
บททั่วไป
ยาบ้า คือยากลุ่มแอมเฟทตามีน(Amphetamines) ซึ่งมีหลายตัว เช่น Dextroamphetamine, Methamphetamine เรียกกันแต่เดิมว่า “ยาม้า” ยานี้เคยใช้เป็นยา รักษาโรคอยู่บ้างในอดีต สำหรับผู้ป่วยที่เป็น โรคผลอยหลับโดยไม่รู้ตัว (Narcolepsy) เด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ขาดความตั้งใจ และสมาธิในการเรียน (Attention Deficit Disorder) และผู้ที่ต้องการ ลดน้ำหนัก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนำมาใช้กันแล้ว ยาบ้ามีประวัติที่มายาวนาน โดยสังเคราะห์ได้กว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ใช้กระตุ้นความกล้าหาญ และความอดทน ของทหารทั้งสองฝ่าย โดยประมาณกันว่า มีการใช้ยาบ้ากว่า 72 ล้านเม็ด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แม้กระทั่งฮิตเลอร์ ก็ฉีดยาบ้าแทบทุกวัน หลังสงคราม การใช้ยาบ้า จึงเริ่มแพร่ขยายออกไปสู่สังคม สาเหตุที่เคยเรียกว่า ยาม้า สันนิษฐานได้หลายแง่ บ้างว่าคงมาจาก การที่เคยนำไปใช้ กระตุ้นม้าแข่งให้วิ่งเร็ว และอดทน บ้างว่าเนื่องจากทำให้ ผู้ใช้ยาคึกคะนองเหมือนม้า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาเรียกเป็นยาบ้า ก็เพื่อจะเน้นความเป็นพิษของยา ซึ่งเมื่อใช้มากเกินขนาด หรือใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้ผู้ใช้ยามีลักษณะ เหมือนคนบ้า และเนื่องจากกระบวน การสังเคราะห์สารนี้ไม่ซับซ้อน ปัจจุบันจึงมีการ ลักลอบสังเคราะห์ กันอยู่ในประเทศไทย
แอมเฟตามีน มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมนิดๆโดยทั่วไปที่มีจำหน่าย มักจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กเม็ดกลมแบน อาจพบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปหัวใจ มีสีขาว เหลือง น้ำตาล สีฟ้า หรือหลากสีในเม็ดเดียว และมักมีเครื่องหมายรูปหัวม้า หรือคำว่า LONDON
ปัจจุบันยาในกลุ่มนี้ที่แพร่หลายมากที่สุดเป็น เมทแอมเฟตามีน (Metamphetamine) ซึ่งมีลักษณะ ที่พบบ่อยเป็นเม็ดสีส้มมีตัวอักษรWY ในระยะหลังจะพบว่ามีการผสมยากลุ่มแอมเฟตามีน โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนร่วมกับเฮโรอินและอื่นๆ ซึ่งมีผลทำให้เสพติดง่ายขึ้น เลิกจากการเสพติด ได้ยากมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เอ็กซ์ตาซีซึ่งมักพบในเมืองใหญ่ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีฐานะ
ยาอี ซึ่งย่อมาจากเอคตาซี่ (Ectasy) เป็นสารอนุพันธุ์ ตัวหนึ่งของยาบ้า (สารอนุพันธุ์หมายถึงสาร ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมี และฤทธิ์คล้ายคลึงกัน) ยาอีเป็นสารที่ได้ จากการจงใจ สังเคราะห์ทางเคมี โดยมีชื่อย่อ ทางเคมีเรียกว่า MDMA และไม่เคยใช้เป็นยาเลย ในสมัยหนึ่งนักเคมี ทดลองสังเคราะห์ สารที่มีโครงสร้างคล้ายยาบ้ามากมายหลายตัว โดยหวังว่าคงจะมีสักตัว ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่กลับปรากฏว่าสารเหล่านั้น มักไม่ประโยชน์แต่กลับมีผลเสียต่อจิตอารมณ์แทบทุกตัว สารอนุพันธุ์เหล่านี้ ปัจจุบันมีการลักลอบสังเคราะห์กันในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเรียกกันรวมๆ ว่า Designer Drugs ซึ่งหมายถึงสารที่พยายามดัดแปลงสูตรโครงสร้าง ทางเคมีจากสารเดิม ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อใช้ทดแทน สารเดิมและหลีกเลี่ยงปัญหา ทางกฎหมาย
ส่วน ยาเค ซึ่งย่อมาจากเคตามีน (Ketamine) คือยาสลบชนิดหนึ่ง ที่ทางสัตวแพทย์ ใช้ฉีดสลบสัตว์ และแพทย์ใช้ฉีดผู้ป่วยเด็กก่อนทำการผ่าตัดขนาดเล็ก ยานี้ไม่ทำให้หมดสติ แต่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ร่างกายและจิตใจเหมือนแยกจากกัน ไม่รับรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด ยานี้มีแหล่งที่มาจาก บริษัทผู้ผลิตยาซึ่งจำหน่าย เพื่อใช้ในโรงพยาบาล และปศุสัตว์ และบางส่วน ถูกลักลอบออกมา
ในปัจจุบันสารและยาเหล่านี้ถูกนำมาใช้ ในทางที่ผิดกันมาก ทั้งโดยเจตนา และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหา ต่อตัวผู้ใช้เอง และเกิดผลกระทบ ต่อสังคมอีกด้วย
ผลของยาบ้า ยาอี และยาเค
ยาบ้ามีคุณสมบัติ กระตุ้นระบบประสาท และกระตุ้นจิตอารมณ์ อย่างรุนแรง โดยจะมีผลอยู่ได้นาน ประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากใช้ยา ผลเหล่านี้ได้แก่ ผลกระตุ้นต่อระบบประสาท ทำให้นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร การหายใจเร็วและแรง หัวใจเต้นเร็ว และแรง ความดันเลือดสูงขึ้น รูม่านตาขยาย ตื่นเต้นง่าย อยู่ได้นานโดยไม่ต้องนอน อยู่ไม่สุข มือสั่น ตัวสั่น เหงื่อออกมาก ท้องเสียหรือท้องผูก ปาก และ จมูกแห้ง ริมฝีปากแตก ทำงานเกินปกติ หงุดหงิด ชอบทะเลาะวิวาท รูม่านตาเบิกกว้าง สูบบุหรี่จัด มวนต่อมวน และอาจมีคลื่นไส้อาเจียน ผะอืดผะอมได้
ผลกระตุ้นต่อจิตอารมณ์
ส่วนใหญ่เกิดในช่วงต้น หลังการใช้ยา ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง รู้สึกตื่นตัว มีพลังมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ซึ่งมักเป็นสาเหตุ ให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิด และติดยาโดยจิตใจ ผลทางด้านจิตใจจะเห็นได้ชัดเมื่อเสพเป็นจำนวนมาก จะเกิดอาการทางจิตเฉียบพลัน หรือเป็นบ้าขึ้นได้ชั่วระยะหนึ่ง อาการจะคล้ายผู้ป่วยโรคจิตหวาดระแวงเกิดอาการหลงผิด คิดว่ามีคนมาทำร้ายตนเอะอะคว้าอาวุธมาป้องกันตัวเอง หรือพยายามจะหนีซุกซ่อนตัวเอง พูดไม่รู้เรื่อง มักเห็นภาพหลอน ต่างๆนานา ซึ่งนำไปสู่อันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น เช่นตกใจกลัวปีนตึกหรือเสา ถูกรถชน หรือหลงผิดว่า มีคนมาทำร้าย จึงทำร้ายผู้อื่นก่อน บางรายที่ใช้ยามากๆอาจจะมีอาการไข้ขึ้น ความดันโลหิตสูงมาก ใจสั่น หายใจไม่ออก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก หมดสติถึงตายได้
ผลต่อพฤติกรรม
เห็นได้ชัดในช่วงปลายหลังการใช้ยา ทำให้พูดมาก ก้าวร้าว ย้ำคิดย้ำทำ กระวนกระวาย บางครั้งมีอาการประสาทหลอน ทางสายตาหรือทางหู
จากการที่ ยาบ้ากระตุ้นร่างกาย ให้ใช้พลังงานมากขึ้น แต่กลับทำให้เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ พลังงานสำรอง ของร่างกายจึงลดลง ดังนั้นหลังจากยาบ้า หมดฤทธิ์แล้วผู้ใช้ยา จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียเป็นเวลานาน รู้สึกหิวและอยากนอน ในกรณีที่ใช้ยาบ้าขนาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใช้ต่อเนื่องหลายครั้ง อาจทำให้รู้สึกสับสน วิตกกังวลรุนแรง มีอาการประสาทหลอน และรู้สึกหวาดระแวงอย่างหนัก ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายคนบ้า เมื่อเสพเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สมองได้รับการกระตุ้นเสมอ โดยไม่ได้รับการพักผ่อน ร่างกายฝืนให้ทำงานหนักตลอดเวลามีผลทำให้ร่างกายสุขภาพทรุดโทรมลงเกิดโรคตามมาง่าย เช่น โรคติดเชื้อต่างๆ โรคตับอักเสบ โรคปอด ไตเสื่อม ผลต่อจิตใจเกิดอารมณ์แปรปรวน ภาวะทางจิตเสื่อมโทรมก่อให้เกิดโรคจิตเรื้อรังหรือบ้าได้ตลอดไป
ยาบ้านิยมใช้ในหมู่ผู้ประกอบอาชีพใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ มีการลักลอบจำหน่าย อยู่ตามแหล่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ใช้ยา เช่น ตามปั๊มน้ำมัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยาบ้าเป็นยาเสพย์ติด ดังนั้น ทั้งการใช้ยา การมีไว้ในครอบครอง การผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก ล้วนมีความผิด ตามกฎหมายทั้งนั้น
ยาอีมีผลโดยทั่วไปคล้ายยาบ้า แต่มีผลทำให้เกิดประสาทหลอนรุนแรงกว่ายาบ้า ยาอีลักลอบใช้กันมาก ในหมู่นักศึกษา และวัยรุ่นในสังคมชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มักใช้ในงานเลี้ยงส่วนตัวตามบ้าน งานเต้นรำโต้รุ่ง เพื่อเพิ่มเติม ความรู้สึกสนุกสนาน เคลิ้มสุข และเข้ากันได้ง่าย ยานี้ปัจจุบันยังต้องลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ และลักลอบซื้อกันในตลาดมืด ยาอีเป็นยาเสพย์ติดประเภทเดียวกับยาบ้าเช่นกัน
ยาเคในปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากโดยธรรมชาติเป็นยาน้ำทำให้พกพาและใช้ไม่สะดวก ยาเคทำให้รู้สึกเหมือนว่าร่างกายและจิตใจแยกออกจากกัน (เปรียบเทียบคล้ายกับ ความรู้สึกเมื่อใกล้ตาย) และถ้าใช้ขนาดสูง ก็ทำให้หมดสติได้ แม้ยาเคจะไม่อยู่ในข่ายยาเสพย์ติดแต่การใช้ยา ต้องมีใบสั่งแพทย์ และควรใช้โดยแพทย์ หรือสัตวแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งยานี้ก็เล็ดรอด ออกมานอกโรงพยาบาล หรือปศุสัตว์ได้
ยาบ้า ยาอี และยาเค ทำให้ติดยาได้หรือไม่ ถ้าได้อะไรเป็นสาเหตุ ทำให้ติดยา และผลเสียของ การติดยาดังกล่าว เป็นอย่างไร?
โดยทั่วไป ลักษณะการติดยา มีอยู่สองแบบคือ การติดโดยร่างกาย และการติดโดยจิตใจ
การติดโดยร่างกาย หมายถึงสภาวะที่ร่างกาย ทำหน้าที่ภายใต้อิทธิพล ของยาจนเคยชิน เมื่อหยุดใช้ยา ร่างกายจะทำหน้าที่ดังเดิมไม่ได้ และเกิดอาการขาดยาหรือลงแดง (Withdrawal symptoms) รุนแรง ซึ่งมักเป็นอาการตรงข้ามกับผลของยา และเมื่อได้รับยาเดิม อาการก็จะหายไป
ส่วนการติดโดยจิตใจ หมายถึงผู้ใช้พึงพอใจกับผล และความรู้สึกที่เกิดจากยา เมื่อหยุดใช้ยามักไม่เกิดอาการขาดยา หรืออาการไม่รุนแรง แต่จะมีความรู้สึกอยาก หงุดหงิด และพยายามแสวงหายา มาใช้เหมือนเดิม
ยาทั้งสามตัวนี้ ก่อให้เกิดการติดยาได้ทั้งนั้น แต่จะมีแนวโน้ม โอกาส และผลสืบเนื่องแตกต่างกันไป ในสภาพปัจจุบัน ยาบ้าเป็นยา ที่ติดได้ง่ายที่สุด รองลงมาคือยาอี ส่วนยาเค ก็มีโอกาสติดได้
ยาบ้าทำให้ติดยา ได้ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยอาการขาดยาบ้าได้แก่ อ่อนเพลียหมดเรี่ยวแรง หิวจัด นอนหลับลึก และยาวนานตั้งแต่ 24-48 ชั่วโมง ซึมเศร้าหดหู่ วิตกกังวล อาการทางจิตประสาท อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ ไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับ การใช้ยาบ้าต่อไป เพราะการเลิกยาบ้า เป็นวิธีแก้ปัญหา ที่ถาวรและดีกว่ามาก เมื่อเลิกยาบ้าได้ สุขภาพร่างกาย และจิตใจจะดีขึ้น สามารถแสวงหาความสุขอื่น ได้อีกมากมาย
ส่วนยาอีมีคุณสมบัติส่วนใหญ่เหมือนยาบ้า จึงทำให้เกิดการติดยาได้ และมีลักษณะของการติดยาคล้ายกับยาบ้า แต่การติดยาอี ยังไม่แพร่หลาย เหมือนยาบ้า ยังจำกัดในวงสังคมชั้นสูง เนื่องจากหาซื้อยาก และราคาแพงมาก
เนื่องจากการใช้ยาเค ส่วนใหญ่มักใช้เป็นครั้งคราว ดังนั้นข้อมูล เกี่ยวกับการติดยาเค ยังมีจำกัด แต่ยานี้มีคุณสมบัติพื้นฐาน คล้ายยาเสพย์ติด โดยทั่วไป จึงคาดว่า ทำให้เกิดการติดยาได้
พิษของยาบ้า ยาอี และยาเคต่อผู้ใช้ยา ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรังเป็นอย่างไร ร้ายแรงเพียงไร?
พิษของยาทั้งสามตัว แตกต่างกันไป โดยที่พิษของยาบ้า และยาอีจะคล้ายคลึงกัน ส่วนยาเคนั้น จะแตกต่างออกไป อย่างไรก็ดีข้อมูล เรื่องของยาอีและยาเค ยังมีจำกัด
การใช้โดยการฉีด ทำให้เกิดการติดเชื้อ การอักเสบบริเวณที่ฉีด และเป็นหนทาง ติดโรคเอดส์ได้
ในกรณีที่ใช้ยาบ้าในขนาดสูง ในระยะเฉียบพลันจะทำให้ตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ เหงื่อแตกพลั่ก ปากแห้ง ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด ตาพร่า มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูงฉับพลัน ตัวสั่น ควบคุมร่างกายไม่ได้ ชัก หมดสติ ในบางรายอาจเสียชีวิต จากเส้นเลือด ในสมองแตก หัวใจวาย การชัก หรือตัวร้อนจัด
ถ้าหากใช้ยาต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ยาบ้าทำให้เกิด ความผิดปกติทางจิต คล้ายกับคนบ้า ชนิดหวาดระแวง (Paranoid) และอาจก่อความรุนแรง หรืออาชญากรรมได้ ร่างกายจะทรุดโทรม อ่อนแอ เนื่องจากขาดอาหา รและขาดการพักผ่อน ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อ ในบางครั้ง ผู้ที่ใช้ยาบ้า อาจจะทำงานหนักเกิน จนร่างกายรับไม่ไหว เกิดการบาดเจ็บหรือทุพลภาพได้
ยาอีมีพิษเฉียบพลัน คล้ายยาบ้ารวม ได้แก่ เกิดความปรวนแปร ทางจิตอารมณ เช่น วิตกกังวลรุนแรง ซึมเศร้า ความคิดหวาดระแวง และที่สำคัญคือ ประสาทหลอน อาการพิษ ทางกายได้แก่ กล้ามเนื้อเกร็งตัว คลื่นไส้ ตาพร่า เป็นลม หนาวสั่น เหงื่อแตก
จากผลการทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าทั้งยาบ้าและยาอี ทำลายเซลประสาทบางชนิด ทำให้สมองเสื่อมอย่างถาวร และเกิดความบกพร่อง ในการทำงาน ของร่างกายส่วนที่สมอง บริเวณนั้นควบคุม เช่น อารมณ์ การนอนหลับ การหลับนอน (ความสามารถทางเพศ) การรับรู้ความเจ็บปวด เป็นต้น
นอกจากนั้นยังเชื่อว่า ยาบ้าและยาอี มีผลพิษต่อตัวอ่อนด้วย โดยพบว่าทารก ที่คลอดจากมารดา ที่ติดยาบ้า มักมีความผิดปกติ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ยาเคมีพิษเฉียบพลัน กระตุ้นทำให้จิตอารมณ์วุ่นวาย และเกิดภาวะประสาทหลอน และเมื่อใช้ขนาดสูง จะทำให้หมดสติ
มียาอื่นซึ่งมีคุณสมบัติ และการใช้คล้ายยาบ้า ยาอี และยาเคหรือไม่ ถ้ามีคือยาอะไรบ้าง?
มียาและสารหลายตัว ที่มีคุณสมบัติ กระตุ้นระบบประสาท คล้ายกับยาบ้าและยาอี ตัวอย่าง เช่น ยา Love (MDA) ซึ่งได้ชื่อมาจากผลของยาที่ทำให้ผู้ใช้มีความขวยเขินและความอับอายลดลง รู้สึกอยากพูดคุย ปฏิสันถารกับคนอื่น
ส่วนยาและสารที่ทำให้เกิดภาวะประสาทหลอน คล้ายยาเค ได้แก่ PCP, LSD สารในเห็ดขี้ควาย กัญชา
ยาเสพย์ติด ที่เริ่มเป็นปัญหาของสังคมอีกตัวคือ โคเคน ซึ่งสะกัดแยกมาจากใบของต้นโคคา มีฤทธิ์และผลต่อร่างกายและจิตใจคล้ายยาบ้ามาก แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้างบางประการ ประการแรก โคเคนมีผลอยู่ได้สั้น เพียงประมาน 30 นาที หลังจากใช้ยา ขณะที่ยาบ้ามีผลอยู่ได้นานถึง 4-6 ชั่วโมง ซึ่งคุณสมบัตินี้ทำให้ในต่างประเทศ นิยมใช้โคเคนในหมู่นักกีฬาอาชีพและดารา เนื่องจากสามารถเลือกใช้ผลยาตามเวลาที่ต้องการได้ ประการที่สอง โคเคนเกิดการชินยา (Tolerance) ได้ช้าซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาที่เสพย์มากขึ้นทุกครั้งในการใช้ยา ขณะที่ยาบ้าเกิดการชินยาได้เร็ว ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลกระตุ้น ระบบประสาทและจิตอารมณ์เหมือนเดิม ในบางครั้งต้องใช้ยามากกว่าครั้งแรก 5-10 เท่า ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อพิษของยามากขึ้น ประการที่สาม โคเคนนั้นมีทางเลือกในการเสพย์มากกว่ายาบ้า สามารถเสพย์โดยการสูด หรือการนัตถุ์ยาได้ และประการสุดท้าย โคเคนมีราคาแพงมากกว่ายาบ้า
อาการของการเลิกใช้ยาหรือถอนยา
ในรายผู้ที่เสพติดยาบ้าแล้ว เมื่อหยุดการใช้ยาก็จะเกิดอาการ ได้แก่ รู้สึกร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรงมาก จนกระทั่งไม่มีแรงแม้จะทานอาหาร จะมีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ความคิดสับสน ปวดศีรษะ เหงื่อแตกมาก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดบิดในท้อง รู้สึกร้อนสลับหนาวจัดได้ อาจทุรนทุราย เอะอะอาละวาด ทำร้ายผู้อยู่ใกล้เคียงได้ อาจฆ่าตัวตายเนื่องจากมีอารมณ์ซึมเศร้ามากอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากขาดยาไปเพียง 2-3 วัน และอาจมีความรู้สึกทรมานต่อไปอีกเป็นอาทิตย์ ซึ่งผู้เสพบางรายอาจจะทนไม่ได้ แต่โดยทั่วไปอาการจะมีประมาณ 1 อาทิตย์
การรักษา
ในระยะหลังจะพบผู้ติดยาบ้ามากขึ้นโดยเฉพาะในสถานศึกษาโดยทั่วไป การจะเลิกนั้นไม่ยากเนื่องจาก โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร และอาการถอนยาก็ไม่รุนแรง อาจมีอาการหงุดหงิดบ้างเล็กน้อย อ่อนเพลีย นอนหลับมากปวดเมื่อยตามตัว ผู้เสพติดสามารถเลิกได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอะไร นอกจากในรายที่มีอาการทางด้านโรคจิตประสาทชัดเจนหรือกลุ่มซึ่งติดมานานจนเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ
การบำบัดรักษาเพื่อให้เลิกจากการเสพยาแอมเฟตามีนความสำคัญอยู่ที่ทำให้ผู้เสพเข้าใจถึงพิษภัยของยาบ้าในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องของระดับสติปัญญาที่ลดลงไปเรื่อยๆ และเกิดอาการทางจิตประสาทตามมาซึ่งระยะเวลา ที่เริ่มมีอาการมักเกิดภายหลัง 2 – 5 ปีหลังการเสพติด รวมทั้งผลกระทบอื่นๆในทุกด้าน อาจใช้ยาที่มีผลทำให้ความรู้สึกอยากยาลดลง และยาที่ควบคุมอาการทางจิตประสาท หรือการใช้กิจกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด
การตรวจสารเสพติด (ยาบ้า)
ต่อแต่นี้ไปจะอธิบายถึงวิธีการตรวจสารเสพติด หลักการและเหตุผล ตลอดจนวิธีการทางเทคนิคในการตรวจ
การตรวจปัสสาวะนักเรียนในสถานศึกษาหรือสถานประกอบการต่างๆ ในลักษณะป้องปราม สำหรับเด็กนักเรียนหรือพนักงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสพยาควรดำเนินการตรวจต่อเนื่องทุกเดือน โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า การใช้มาตรการนี้นักเรียนหรือพนักงานส่วนใหญ่จะกลัวแล้วไม่กล้าเสพอีก อย่างไรก็ตามการตรวจปัสสาวะนักเรียนจำนวนมาก ๆ ทั้งโรงเรียนหรือพนักงานทั้งโรงงาน หากไม่มีความเข้าใจในการตรวจ หรือการแปลผลการตรวจที่ดีพอมักก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง หรือตัวสถานประกอบการเอง ในกรณีที่นักเรียนหรือพนักงานผู้นั้นไม่ได้เสพยาบ้าจริงๆ แต่เกิดผลบวกลวง จากการตรวจปัสสาวะ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วเกิดขึ้นได้จริงๆ ขึ้นอยู่กับแม่นยำของวิธีที่ใช้ในการตรวจ
ดังนั้น เมื่อสถานศึกษาหรือสถานประกอบการใดต้องการตรวจปัสสาวะนักเรียนหรือพนักงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้เข้าใจถึงวิธีและข้อจำกัดในการตรวจ เพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้องและสามารถดำเนินการต่อไปได้ถูกต้องด้วย
อาศัยความรู้ที่ว่าเมื่อมีการเสพยาบ้าเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะขับออกทางไต นั่นคือออกมาพร้อมๆกับปัสสาวะ อาจมีผู้สงสัยว่าจะตรวจจากเลือดได้หรือไม่ คำตอบคือ ตรวจได้ แต่ไม่นิยมทำกัน เพราะระดับแอมเฟตามีนในเลือดจะต่ำมาก โอกาสผิดพลาดสูง ค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย และที่ตรวจกันก็จะทำในงานวิจัยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การตรวจยาบ้าจึงนิยมตรวจในปัสสาวะ ซึ่งปัจจุบันนี้มีวิธีตรวจหลายวิธี แบ่งวิธีการตรวจออกได้เป็น 3 กลุ่มตามประสิทธิภาพและ ความจำเพาะ
1. วิธีการตรวจขั้นต้น (CCR) โดยใช้ปฏิกริยาทางเคมีในการตรวจใช้เวลา 2-5 นาที
ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สารออกฤทธิ์ในยาบ้าจะทำปฏิกิริยากับน้ำยา ตรวจสอบในสภาวะที่เหมาะสม แล้วเปลี่ยนสีของน้ำยาจากสีเหลืองเป็นสีม่วงแดง
2. วิธีการตรวจแบบสกรีน(CICA) โดยหลักการอิมมูโนแอนติบอดีย์ใช้เวลา 10-15 นาที
ชุดทดสอบที่ใช้หลักการภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunoassay) โดยใช้หลักการ Immunochromatographic Technique เมื่อหยดปัสสาวะลงในช่องปัสสาวะจะซึมไปตามกระดาษที่เคลือบด้วยสารภูมิคุ้มกัน สามารถอ่านผลโดยดูจากแถบสีที่ปรากฏ
3. วิธีการตรวจยืนยันเป็นการตรวจขั้นสูง ที่อาศัยน้ำยาและเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจที่มีราคาแพงได้แก่ แก็สโครมาโตรกราฟฟีหรือแมสสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ (GC/Mass) และจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญ ให้ผลการตรวจที่แม่นยำถูกต้องสูง แม้จะมีระดับสารเสพติดในปริมาณต่ำๆ ก็สามารถตรวจได้
Gas Chromatography / Mass Spectrometry (GC / MS) เป็นเครื่อง GC ที่ต่อเข้ากับ MSสารในตัวอย่างตรวจจะถูกแยกออกจากกันด้วยเครื่อง GC แล้วถูกวิเคราะห์โดยอาศัยคุณสมบัติของมวล/ประจุของสารแต่ละชนิด ด้วยเครื่อง MS การตรวจด้วยเครื่องดังกล่าวเป็นการตรวจยืนยันที่ดีที่สุด สามารบอกปริมาณของแอมเฟตามีนที่พบได้ว่ามีเท่าไร กี่นาโนกรัม ซึ่งทำให้หมดปัญหาในข้อโต้แย้งของการตรวจ แต่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงและตรวจได้เฉพาะที่ศูนย์บางแห่งเท่านั้น
การตรวจสารเสพติด (ยาบ้า) ที่มีคุณภาพและมีจรรณยาบรรณต่อผู้เข้ารับการตรวจนั้น จะต้องตรวจปัสสาวะทั้งหมด2 ขั้นตอน เหตุผลก็คือ เราไม่สามารถตรวจนักเรียนหรือพนักงานจำนวนมากโดยวิธีตรวจยืนยันทุกรายเพราะค่าใช้จ่ายสูงมากและเสียเวลาในการตรวจนาน การตรวจเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่า สามารถตรวจได้คราวละมาก ๆ แต่ผลเสียก็คือ มีผลบวกลวง (False positive) สูง อะไรคือ ผลบวกลวง การกินยาที่มีสูตรทางเคมีบางส่วนคล้ายสารแอมเฟตามีน (Amphetamine) ทำให้เกิดผลบวกลวงขึ้นได้
ยาในกลุ่มดังกล่าวได้แก่
1. ยาแก้แพ้-ยาแก้หวัดคัดจมูก เช่น ซูโดเอฟรีดีน, คลอร์เฟนนิรามีน และ เฟนิลโพรพานอรามีน
2. ยาแก้ไอ เช่น เดซ์โตรเมโทรแฟน และโคดีอีน
3. ยาที่รักษามาเลเรีย เช่น ควินีน และควินิดีน
4. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้แก่ อิมิปรามีน อะมิทริปทัยลีน และคลอโปรมาซีน
5. และยาลดความอ้วน เป็นต้น
นอกจากกลุ่มยาดังกล่าวแล้ว ผลบวกลวงอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งอาจอธิบายเรื่อง “ผลบวกลวง” เพิ่มเติมได้ดังนี้
ผลบวกลวง (False Positive)
หลายคนคงแปลกใจว่าทำไมเวลาที่มีการตรวจหาเชื้อ HIV ในเลือดหรือการตรวจหายาเสพติดในปัสสาวะ จึงต้องมีการตรวจชันสูตร 2 ขั้นตอนได้แก่ การตรวจเบื้องต้น (Screening test) และการตรวจยืนยัน (Confirmatory test) สาเหตุคงเนื่องมาจากการตรวจยืนยันเป็นวิธีที่ดีที่จะบอกผลได้แม่นยำแต่เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ในตลาดก็คือวิธีที่ดีย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงและมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลามาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง การตรวจเบื้องต้น นอกจากจะมีคุณสมบัติดังที่กล่าวแล้วยังมีคุณสมบัติที่มีความไว (Sensitivity) สูง แต่มีความจำเพาะ (specificity) อาจไม่สูงนัก
คุณสมบัติทั้งสองนี้คืออะไร?
หากจะเปรียบเทียบการตรวจเบื้องต้นเป็นเรดาร์ที่ใช้ตรวจจับเครื่องบิน ที่ผ่านมาในรัศมีทำการของเรดาร์ ถ้ามีเครื่องบิน บินผ่าน 100 ลำ เรดาร์ตัวนี้มีความสามารถตรวจจับได้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดแสดงว่า เรดาร์มีความไวสูง คุณสมบัติข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีสำหรับการตรวจเบื้องต้น หากตรวจปัสสาวะเพื่อหายาเสพติดจะแทบไม่มีผู้ใดที่มียาเสพติดในร่างกายจะเล็ดลอดการตรวจไปได้
สำหรับ ความจำเพาะ ก็คือ นอกจากเครื่องบินที่บินผ่านมา เรดาร์สามารถตรวจจับนกที่บินผ่าน แต่บนหน้าจอไม่สามารถ แยกได้ว่าเป็นเครื่องบินหรือนกดังนั้นเมื่อมีเครื่องบิน 100 ลำ และ นก 50 ตัวบินผ่านเรดาร์ ตรวจจับว่ามีวัตถุปรากฏบนหน้าจอ 150 วัตถุบินผ่านมา หากเรดาร์ตรวจจับนก ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามามาก แสดงว่ามีความจำเพาะต่ำ คุณสมบัติข้อนี้มักเป็นข้อด้อยของชุดตรวจเบื้องต้น
มีตัวอย่างการตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีนหรือยาบ้า โดยใช้การตรวจ โดยใช้สารเคมี (Color test) ที่จะทำปฏิกิริยาเปลี่ยนสีกับสารในกลุ่ม แอมเฟตามีน (Color test) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างได้ว่ามีผลบวกลวงเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร
ตัวอย่างแรก
จากการตรวจของศูนย์วิทยาศาสตร์ การแพทย์ จังหวัดพิษณุโลก เก็บตัวอย่างปัสสาวะของนักเรียนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในปี 2541 จำนวน 3,762 ราย จากการตรวจเบื้องต้นพบผลบวกจำนวน 161 ราย แต่เมื่อส่งตรวจยืนยันพบผลบวกเพียง 62 ราย
ตัวอย่างที่สอง
จากการเก็บ ปัสสาวะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดลพบุรี ปี 2539 ได้ตัวอย่างทั้งสิ้น 2,093 ราย ผลการตรวจเบื้องต้นด้วย Color test พบผลบวก 333 ราย จากนั้นส่งตรวจยืนยันด้วย GLC พบผลบวกเหลือ 86ราย
ตัวอย่างสุดท้าย
เป็นการเก็บตัวอย่างของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ปลายปี 2538 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สุ่มเก็บได้ตัวอย่างปัสสาวะทั้งสิ้น 2,997 ราย ผลการตรวจเบื้องต้นโดยใช้ชุดนี้ยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผล บวกทั้งสิ้น 161 ราย เมื่อส่งตรวจยืนยันโดยใช้วิธี Chromatography ผลบวกลดเหลือ 70 ราย
จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างแรก พบผลบวกลวง 99 ราย ในจำนวน161 ราย คิดเป็นร้อยละ 61.5 ตัวอย่างที่สอง พบผลบวกลวง 247 ราย ในจำนวน 333 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.2 และตัวอย่างสุดท้าย พบผลบวกลวง 221 ราย ในจำนวน 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.9 สรุปว่าจากกรณี การตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีน โดยวิธีตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจที่เป็นสีเคมี (Color test) ทั้ง 3 กรณี พบผลบวก ลวง (False positive) สูงถึงร้อยละ 60-75
เราอย่ามั่นใจว่าตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะจนกว่าจะตรวจยืนยันก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจด้วยวิธี CCR เพราะ ข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจยืนยัน (Confirmatory test) เมื่อผลของการตรวจเบื้องต้นได้ผลลบ เราค่อนข้างมั่นใจว่าการตรวจมีความถูกต้องสูง ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจยืนยันอีก การตรวจเบื้องต้นโดยใช้วิธีการตรวจต่างชนิดกัน จะมีความไวและความจำเพาะแตกต่างกัน ดังนั้นการที่จะใช้วิธีใดทำการตรวจ เบื้องต้น จะต้องศึกษาผลการวิจัยหรือข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติทั้งสองของชุดตรวจนั้นๆ ด้วย
หากจะถามว่าผลบวกลวงในการตรวจเบื้องต้น มีมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับชนิดของชุดตรวจ ถ้าเป็นชุดตรวจที่เป็นสารเคมี (Color test หรือ CCR) เมื่อผสมกับปัสสาวะที่มียาบ้า จะเปลี่ยนสี ชุดตรวจประเภทนี้จะมีผลบวกลวงสูงคือประมาณร้อยละ 60-70 ดังจะทราบข่าวในกรณีของโจอี้บอย เป็นต้น ข้อดีของวิธีนี้คือราคาถูกที่สุด วิธีการตรวจนี้จะเป็นที่รู้จักกันดี เพราะผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และส่งให้ตำรวจใช้และมักเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าพบ “ฉี่ม่วง”
หากเป็นชนิดที่ใช้วิธีการตรวจด้านภูมิคุ้มกัน (Immunoassay) จะพบผลบวกลวงน้อยกว่า ดังนั้นในสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีมาตรฐานจึงนิยมใช้วิธีการตรวจด้านภูมิคุ้มกันเป็นการตรวจเบื้องต้นอันดับแรก หากเมื่อตรวจพบว่ามียาบ้าในปัสสาวะก็จะตรวจยืนยันโดยวิธี GS/Mass (วิธีที่ 3) อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อตรวจยืนยันแล้วว่าในปัสสาวะมียาเสพติดจริง เราก็สามารถบอกได้เพียงว่า ผู้นั้นได้เสพยาเสพติดก่อนหน้าที่จะมาตรวจปัสสาวะระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าผู้นั้นติดยาเสพติดหรือไม่ เพราะผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากยังไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติด และการจะบอกว่าผู้ใดติดยาเสพติดแล้ว ต้องมีหลักเกณฑ์อื่น ๆ มาประกอบช่วยพิจารณา หากหน่วยงานใดต้องการรายละเอียดด้านเทคนิคของการตรวจปัสสาวะอาจจะหารือไปที่กองวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ตั้งอยู่ตามเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ดังนั้นสรุปได้ว่าสถานประกอบการหรือสถานศึกษาใดจะจัดให้มีการตรวจยาบ้าในหน่วยงานของท่านกรุณาเลือกใช้วิธีการตรวจที่เหมาะสม หรือหากใช้หน่วยบริการใดมาให้บริการตรวจให้กรุณาสอบถามรายละเอียดวิธีการตรวจว่า ตรวจให้อย่างไร วิธีที่ใช้ตรวจเป็นวิธีใด เพื่อที่จะได้การตรวจที่มีคุณภาพ ถูกต้องมีมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของท่านในที่สุด